มนุษย์ต้องการจะดูดี และในโลกที่เต็มไปด้วยการถ่ายภาพนี้ก็ยิ่งอยากดูดีขึ้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหากับคนร่วมสมัยมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ‘ความอ้วน’ และเอาจริงๆ นี่น่าจะเป็นปัญหา ‘ความงาม’ ระดับคลาสสิกที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 200 ปี หรือพูดง่ายๆ เทรนด์ความงามสารพัดของมนุษย์เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนมา 200 กว่าปีเป็นอย่างน้อย ก็คือความต้องการที่จะ ‘ผอม’
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 สูตรลดความอ้วนยอดฮิตคือการกินไข่พยาธิตัวตืด ซึ่งก็คงไม่ต้องบอกว่ามันอยู่ได้ไม่นาน เพราะผอมจริง แต่ก็แลกมาด้วยความเสียหายทางสุขภาพมหาศาล
ซึ่งเอาจริงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การสูบบุหรี่ก็เป็นแนวทางลดความอ้วนที่คนฮิตกันระดับที่บริษัทบุหรี่มีการโฆษณาสรรพคุณบุหรี่ว่าช่วยลดความอ้วน
และช่วงกลางของศตวรรษที่ 20 ก็มีเทรนด์การกินสารพัดเพื่อจะลดความอ้วน ซึ่งไอเดียคือการกินพลังงานเข้าไปให้น้อยกว่าที่ร่างกายใช้ ไม่ว่านั่นจะเป็นการกินแต่เกรปฟรุต การกินแต่กะหล่ำปลี หรือที่ไปพีกสุดก็คือช่วง 1970s ที่มีเทรนด์ชื่อ Last Chance Diet ซึ่งให้คนกินหนังสัตว์และกระดูกสัตว์ให้อิ่ม และรับพลังงานไปไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของที่ต้องการต่อวัน
แน่นอนว่าแนวทางแบบนี้จบไม่สวยนัก เพราะเทรนด์สุดท้ายมีคนตายไปอย่างน้อย 60 คน
ทั้งหมดนี้เราอาจรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ ของคนในอดีต แต่คนมันก็ทำตามจริงๆ ซึ่งถามว่าทำไมคนถึงทำ คำตอบคือวิธีที่ว่ามาทั้งหมดลดความอ้วนได้จริง แต่มันส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว (และบางทีระยะสั้นก็ส่งแล้ว)
ตัดมาที่ปัจจุบันถ้าเราจำได้ ช่วงมีนาคมปี 2022 ในไทยก็มีข่าวเด็กลดความอ้วนจนป่วย หลังจากกินอาหารเพียงวันละมื้อและไม่กินแป้งเลย ซึ่งในทางเทคนิคก็คือเด็กคนนี้ใช้สูตรลดความอ้วนสองสูตรยอดฮิตปัจจุบันแบบ IF (Intermittent Fasting) มา 1 ปี
ถามว่ามันอันตรายมั้ย? เทคนิคปัจจุบันถ้าทำถูกจะไม่อันตรายเท่าไหร่ แต่ถ้าทำผิดก็อันตราย เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารร้ายแรงได้ เพราะ IF คือการกินมื้ออาหารลดลง และสูตรที่โหดๆ ก็คือกินอาหารเพียงวันละ 1 มื้อ หรือที่เขาเรียกกันว่าสูตร 23/1 (ความหมายคือวันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง 23 ชั่วโมงห้ามมีอาหารตกถึงท้อง และจะมีอาหารตกถึงท้องได้เพียง 1 ชั่วโมง) ซึ่งไอเดียคือทำให้ร่างกายขาดอาหาร และดึงเอาพลังงานที่สะสมไว้มาใช้ให้น้ำหนักลด
ถ้าจะไม่ให้อันตราย สิ่งที่ต้องทำก็คือกินอาหารในมื้ออื่นๆ ให้สารอาหารครบ หรืออัดสารอาหารไปเยอะๆ ในมื้อที่กินให้ร่างกายไม่ขาดสารอาหาร พูดง่ายๆ ก็คือให้ร่างกายขาดแค่พลังงานพอ แต่ ‘สารอาหาร’ ห้ามขาด ซึ่งพูดเลยว่ายาก เพราะคนกินสองสามมื้อแบบซี้ซั้วๆ บางทีก็ยังกินสารอาหารไม่ครบเลย และสิ่งที่เป็นปัญหาเวลาคนทำ IF คือคิดว่าอดอาหารแล้วก็จบ คิดว่ากินอะไรก็ได้ ผลคือน้ำหนักลดจริง แต่ก็ขาดสารอาหารร้ายแรงด้วย และทำเป็นปีร่างกายก็จะพังแบบเด็กผู้เคราะห์ร้ายในข่าว
อีกแนวหนึ่งที่ฮิตยุคนี้แบบกิน Keto (ชื่อเต็มๆ ว่า Ketogenic Diet) ก็อันตรายไม่แพ้กัน เพราะ ไอเดียมันคือไม่รับ ‘คาร์บ’ เข้าไปในร่างกายเลย คือไม่กินแป้งและน้ำตาลเลย ซึ่งผลคือทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะฮอร์โมนอินซูลินต่ำตลอด ในทางเทคนิคคือการบีบให้ร่างกายเอาไขมันมาใช้เป็นพลังงานหลักตลอดเวลา และพอร่างกายเอาไขมันมาใช้ ความอ้วนก็จะลดลง
ไอเดียอาจจะถูกต้องในหลักชีวเคมีของร่างกายมนุษย์ แต่ปัญหาคือของที่กินจริงๆ เพราะคนทั่วไปถ้าไม่กินแป้งและน้ำตาลก็จะหันไปกินเนื้อสัตว์และไขมันสัตว์ ซึ่งผิดเพราะถ้ากินแบบนี้ในระยะยาว ทางการแพทย์ถือว่าเสี่ยงทั้งพวกโรคกลุ่มหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงมะเร็ง โดยผลระยะสั้น ถ้าทำแบบนี้แล้วไปตรวจเลือด หมอก็อาจแทบสั่งยาลดคอเลสเตอรอลให้กิน เพราะแนวโน้มทำให้ค่าคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก
คนรู้เขาก็จะบอกว่ากินผิด เพราะมันต้องกินผักเยอะๆ และรับไขมันจากพืชด้วย คือควรกินให้ถูกตามไกด์ไลน์ด้านอาหาร แค่ตัดแป้งออกไป และส่วนที่แทนแป้งควรจะเป็นผัก ไม่ใช่เนื้อสัตว์แบบที่หลายๆ คนคิดว่ากินคีโตที่ถูกต้องคือการกินแต่เนื้อสัตว์
ปัญหาพวกนี้คงมีเรื่อยๆ และอยู่คู่กับมนุษย์ต่อไปตราบที่มนุษย์ยังต้องการผอม แม้สูตรลดความอ้วนยุคหลังๆ จะเป็นไปตามหลักโภชนาการมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงคนไม่ได้เอาแนวคิดไปใช้แบบระมัดระวัง แค่เอาบางส่วนไปใช้เท่านั้น และพอน้ำหนักลดก็คิดว่าได้ผล แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลในระยะยาว
แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/views/article/the-messy-quest-against-fat