นับแต่มนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้ อาหารการกินของคนเรานั้นมีวิวัฒนาการผ่านกาลเวลามาทุกยุคสมัย นอกจากอาหารจะมีความจำเป็นทางโภชนาการซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้ว ยังเป็นเรื่องที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หลอมรวมวัฒนธรรม มอบรสชาติที่พึงใจให้กับผู้ที่ได้ลิ้มรสอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
เช่นเดียวกับความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อนวัตกรรมด้านอาหาร ซึ่งนับวันจะยิ่งต้องพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นในอนาคตที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ทศวรรษนี้ จึงมีการคาดการณ์กันว่าอุตสาหกรรม กรรมวิธีการผลิต รวมถึงวิถีการบริโภคอาหารของผู้คนในยุคอนาคต ย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งเพราะอะไร และจะเป็นอย่างไรนั้น เราจะขออาสาพาทุกคนนั่งยานท่องเวลาข้ามช็อตไปสู่อนาคตเพื่อดูให้รู้กัน
เทคโนโลยีอาหาร : เมกะเทรนด์ความจำเป็นเร่งด่วนเพื่ออนาคต
รู้กันหรือเปล่าว่าในจำนวนพื้นที่เกษตรกรรมทั่วทั้งโลกนั้นถูกใช้ไปกับการทำปศุสัตว์และเพาะปลูกอาหารสัตว์มากถึง 75 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว เราน่าจะพอทราบกันดีอยู่แล้วว่าการทำปศุสัตว์นั้นเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศคิดเป็นจำนวนถึง 18 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แม้ในปัจจุบันจะมีความพยายามลงนามข้อตกลงระดับนานาชาติที่มุ่งช่วยกันลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาวิกฤติภาวะโลกร้อน แต่อย่างไรก็ตาม โลกของเราก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างไม่เคยมีมาก่อนจากการทวีขึ้นของประชากรอยู่ดี โดยมีการคาดการณ์กันว่าจากปัจจุบันที่โลกมีประชากรอยู่ที่ 7.3 พันล้านคน จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 8.5 พันล้านคนภายในปี 2030 และจะยิ่งทวีมากถึง 11.2 พันล้านคนภายในปี 2100
เมื่อแนวโน้มการขาดแคลนทรัพยากรอาหารยิ่งชัดเจนขึ้น และวิถีการผลิตอาหารเดิมๆ ที่เคยมีส่วนสร้างปัญหาก็ไม่ตอบโจทย์ สิ่งที่น่าสนใจคือมนุษย์เราจึงได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาการอาหารมาเพื่อเตรียมการรับมือปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งนี่คือเมกะเทรนด์ที่จำเป็นจะต้องมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นไปได้ว่าอาหารของลูกหลานเราในอนาคตนั้นย่อมแตกต่างจากอาหารที่เราบริโภคกันอยู่ในทุกวันนี้ เราลองมาดูกันดีกว่าว่ามีอาหารและเทคโนโลยีอะไรที่เราเตรียมการเอาไว้สำหรับมนุษยชาติในอนาคตกันบ้าง
1. โปรตีนทางเลือกจากแมลง
หลายภาคส่วนต่างลงความเห็นตรงกันให้วัตถุดิบที่เคยถูกมองข้ามมานานอย่าง ‘แมลง’ ให้เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญสำหรับโลกอนาคต ด้วยความที่แมลงมีคุณประโยชน์สูง (Super Food) ซึ่งนอกจากจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญหลายๆ อย่างที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว แมลงยังเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี เพราะมีโปรตีนสูงถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะคาดไม่ถึงกันว่าเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อย่างเนื้อไก่หรือเนื้อหมูในปริมาณที่เท่ากันแล้ว แมลงมีโปรตีนสูงกว่าหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
นี่เป็นเหตุให้ฟู้ดสตาร์ตอัปทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับแมลง พร้อมกับหันมาคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลง รวมถึงแวดวงอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่เชฟไปจนถึง Mixologist ผู้ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนหลายคนก็ได้ร่วมรณรงค์สร้างการรับรู้ให้ผู้คนหันมาเปิดใจยอมรับวัตถุดิบชนิดนี้กันผ่านทางงานที่พวกเขาทำ
2. เนื้อสัตว์จากพืช
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้กระแส ‘เนื้อจากพืช’ กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตในตลาดทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่เมืองไทยของเรา ซึ่งมีผู้ประกอบการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชหน้าใหม่เพิ่มขึ้นหลายราย หนึ่งในพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคทั่วโลกโดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลที่ได้สร้างกระแสผลักดันให้ Plant-based Food ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง คือ ‘Flexitarian’ หรือการกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นเป็นรายสะดวก ไม่เคร่งครัดเท่ากับการกินมังสวิรัติ หรือ Vegan จึงง่ายและสะดวกต่อไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ร้านอาหารแบรนด์ดังหลายแห่งทั่วโลกต่างนำเสนอเมนูอาหารเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มดังกล่าว
เนื้อสัตว์จากพืชเริ่มมีการพัฒนารสสัมผัสให้ ‘ดีต่อใจ’ ใกล้เคียงกับเนื้อจริง และหาซื้อได้ง่ายตามซูเปอร์มาเก็ต รวมถึงเมนู Quick Meal อุ่นง่าย กินไวตามร้านสะดวกซื้อ รวมถึงความหลากหลายเองก็มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหมูกรอบ เนื้อปลา เนื้อกุ้งจากพืช ฯลฯ จึงกลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าสมัยก่อน และด้วยสถานการณ์ที่อุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์มีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน จึงเชื่อแน่ว่าจะยิ่งมีการพัฒนาทั้งรสชาติและทางเลือกเนื้อสัตว์จากพืชให้หลากหลายขึ้นกว่าเดิมอีกมากในอนาคต
3. 3D Printing Food เทคโนโลยีพิมพ์อาหารสามมิติ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 3D Printing ได้รับการนำมาปรับใช้ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ เสื้อผ้า เครื่องประดับ สถาปัตยกรรม ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่อาหาร ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามนุษย์ในอนาคตอาจเข้าสู่ยุคสมัยที่นึกอยากจะกินอะไรก็กดเครื่องพิมพ์สามมิติแล้วรอให้วัตถุดิบขึ้นรูปเพียงไม่กี่นาทีก็พร้อมเสิร์ฟ
นี่มันราวกับนวนิยายวิทยาศาสตร์หรือของวิเศษของโดราเอมอนชัดๆ ที่ผ่านมาได้มีการนำเทคโนโลยี 3D Printing มาใช้กับอุตสาหกรรมอาหารให้เห็นกันบ้างแล้ว ซึ่งต้องบอกว่ามีประโยชน์มากเพราะตอบโจทย์อนาคตหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบโภชนาการเฉพาะบุลคล ใช้ทดแทนเนื้อสัตว์จากการทำปศุสัตว์ ทั้งยังสามารถช่วยในเรื่องของการลดปริมาณคาร์บอนและ Food Waste ได้อีกด้วย เพราะสามารถนำเศษอาหารมาเป็นวัตถุดิบในการพิมพ์ขึ้นรูปอาหาร แต่เราคงต้องอดใจรอสักพักให้เทคโนโลยีนี้สามารถพัฒนาตอบโจทย์ในเรื่องกำลังการผลิต รวมถึงรสชาติรสสัมผัสได้มากขึ้นเสียก่อน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า นี่อาจจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจร้านอาหารในอนาคตก็เป็นได้
4. เนื้อสัตว์จากห้องทดลอง
เนื้อสัตว์ที่สังเคราะห์ในห้องทดลอง (Lab Grown Meat หรือ Cultured Meat) เป็นการเพาะเนื้อเยื่อในห้องแล็บจากเซลล์ต้นกำเนิด เป็นแนวคิดที่มีการพัฒนามาได้สักพักแล้ว เพราะหากทำสำเร็จย่อมจะมีข้อดีหลายประการ ทั้งสามารถลดการทำปศุสัตว์ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปัญหาการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ ลดปัญหาทางจริยธรรมในการฆ่าสัตว์เพื่อนำมาบริโภค และการทำปศุสัตว์แบบเลี้ยงทรมาน
ที่ผ่านมา สิงคโปร์เป็นชาติแรกของโลกที่มีการปลดล็อกกฎหมายให้จำหน่ายเนื้อสัตว์จากห้องทดลองในเชิงพาณิชย์ได้ โดยอนุมัติให้มีการขายนักเก็ตไก่ที่ทำจากเซลล์เนื้อไก่สังเคราะห์ โดยบริษัท Eat Just ทว่าเนื้อในรูปแบบนี้ก็ยังมีราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์ปกติอยู่ ซึ่งหากเทคโนโลยีเนื้อเทียมที่ว่าประสบความสำเร็จด้านรสชาติและกำลังผลิตในระดับที่เป็น Mass Production ได้ และทำให้ราคาต่ำลง นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่ง Game Changer ที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารของโลกเราในอนาคต
5. สาหร่ายสารพัดสายพันธุ์ แหล่งอุดมโภชนาการ
สาหร่ายเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่บรรดานักวิจัยและฟู้ดสตาร์ตอัปทั่วโลกต่างๆ ล้วนให้ความสนใจ เพราะนอกจากจะเติบโตได้ง่ายในทั้งแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็มแล้ว สาหร่ายยังมีจำนวนสายพันธุ์มากมายมหาศาลไปตั้งแต่ 3 หมื่น ไปจนถึง 1 ล้านสายพันธุ์เลยทีเดียว ซึ่งในจำนวนนั้นมีสาหร่ายหลายสายพันธุ์ที่เป็นซูเปอร์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยสารอาหาร กรดอะมิโน เส้นใยธรรมชาติ สารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ รอคอยให้ค้นพบอีกมาก
ที่สำคัญคือสาหร่ายยังมีต้นทุนในการผลิตที่ถูก แถมกระบวนการเพาะเลี้ยงก็ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังนำไปปรุงอาหารและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย สาหร่ายจึงเป็นแหล่งอาหารที่เป็นวัตถุดิบแห่งอนาคตอย่างแท้จริง อย่างเมืองไทยของเราเองก็มีสตาร์ตอัปอย่าง ‘Advanced GreenFarm’ ที่ให้ความสนใจกับ ‘วูฟเฟีย’ หรือ ‘ผำ’ พรรณไม้น้ำพื้นบ้านที่คนไทยคุ้นเคยกันดี และค้นพบว่านอกจากจะอัดแน่นไปด้วยโปรตีนและวิตามินนานาชนิดแล้ว ยังมีปริมาณแป้งและไขมันต่ำ ยิ่งเมื่อมีการเพาะเลี้ยงโดยใช้เทคโนโลยียังช่วยเพิ่มปริมาณของสารอาหารได้อีกไม่น้อย
นี่เป็นเพียงเทคโนโลยีบางส่วนเท่านั้นที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันนำเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาเตรียมเอาไว้สำหรับลูกหลานในอนาคตที่โลกเราจะต้องเจอเข้ากับปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งได้แต่หวังว่าเมื่อเวลานั้นมาถึง ความก้าวหน้าทางวิทยาการอาหารจะช่วยลูกหลานในอนาคตของเราเอาไว้ได้
แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/lifestyle/article/stage-menu70-fine-dining
- July 4, 2022
- 71
- 0
- Food, Uncategorized