ปี 2021 นับว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่เข้มข้นยิ่งกว่าแข่งเกมลุ้นตาย เมื่อผู้เล่นกว่า 70 ล้านคนในประเทศไทยล้วนต้องฝ่าด่านเป็นผู้รอดในแต่ละเกมที่ตนเองไม่ได้กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการพยายามให้เข้าถึงวัคซีน หรือใครมือไว อินเทอร์เน็ตลื่นก็อาจจะได้เงินเยียวยาต่อลมหายใจไปหน่อย แต่ที่เจ็บปวดที่สุดคือสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวจนมีผู้ติดเชื้อพุ่งแตะหลักหมื่น เกิดนิวไฮของผู้เสียชีวิตติดต่อกันหลายเดือน
รวมไปถึงเหตุไฟไหม้และเกิดการระเบิดอย่างรุนแรงที่โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกย่านกิ่งแก้วสมุทรปราการเมื่อกลางปี อีกทั้งไตรมาสสุดท้ายยังตอกย้ำความเสียหายจากการเกิดเหตุอุทกภัยในหลายจังหวัด ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าปี 2564 นี้จะสาหัสกว่าน้ำท่วมปี 2554 หรือไม่ เพราะตอนนี้ทางการอนุญาตให้พูดได้คำเดียวว่า “น้ำมาก” เราประชาชนก็ได้แต่สวดมนต์ (ตามคำแนะนำ) ใครล่ะจะไม่อยากก้าวข้ามไปสู่ปี 2022 อย่างอยู่ดีมีสุข พร้อมๆ กับการตั้งปณิธานใหม่ๆ ในการดำเนินชีวิต
พูดถึงปณิธานปีใหม่ หรือ New Year Resolution ที่เรามักจะลิสต์เป็นข้อๆ ว่าปีใหม่และตลอดทั้งปีนี้มีแพลนดีๆ อะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ๆ ซึ่ง GQ Thailand ยังคงสนับสนุนให้ผู้อ่าน เริ่มวางแผนสิ่งใหม่ไปพร้อมกับแนวคิดและทัศนคติของการมองโลกในแง่ดี แต่ที่สำคัญ การมองโลกในแง่ดีนั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของสติและความเป็นจริง สามารถรู้สึกได้ สัมผัสได้ สุขได้ และร้องไห้เป็น ดั่งเช่นประโยคที่ต้องหันมากอดตัวเองแน่นๆ ที่ว่า
“Crying helps me slow down and obsess over the weight of life’s problems” หรือ “การร้องไห้ช่วยให้ฉันใจเย็นลงและก้าวข้ามผ่านปัญหาไปได้” ประโยคคุ้นเคยแสนอบอุ่นหัวใจของน้องเศร้าซึม (Sadness) ที่ได้กล่าวไว้ในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Inside Out การ์ตูนฟีลกู้ดที่เผยให้เห็นอีกด้านหนึ่งของการพยายามมีความสุขว่ามันอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหาเสมอไป เพราะลึกๆ แล้วตัวเราเองใช่จะเลือกได้ว่า เราอยากมีความรู้สึกอย่างไร หรือมีอารมณ์ไหน หากเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นมา
การมองโลกในแง่ดี VS. การมองโลกในแง่ร้าย
ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกับอารมณ์เศร้าหรือการมองโลกในแง่ร้ายว่าทำให้เรารอดได้อย่างไร ขอย้อนกลับไปเรื่องการมองโลกสองแง่มุม ได้แก่ ผู้ที่มองโลกในแง่ดี (Optimism) กับผู้ที่มองโลกในแง่ร้าย (Pessimism) ซึ่งจากการวิจัยและค้นคว้าต่างๆ ชี้ออกมาในทางเดียวกันว่า
หากคนเราอยากมีความสุขจะต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดี มองโลกให้สวยงามเท่านั้น ถึงขั้นมีการศึกษาที่เรียกว่า Positive Psychology หรือจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นแนวทางจิตวิทยาสมัยใหม่ในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เกิดจากอารมณ์เชิงบวกว่าทำให้คนมีความสุขได้อย่างไร ดีต่อสุขภาพและดีต่อสภาวะจิตใจได้อย่างไร โดยการอยากมีความสุขของมนุษย์นี้เอง กลับเป็นช่องทางให้เหล่าบรรดาไลฟ์โค้ชเห็นโอกาสงามๆ เปิดคอร์สการเรียนรู้ที่จะมีความสุข จนหลายคนยอมจ่ายเงินหลักหมื่นถึงหลักแสนไปให้โค้ชตราหน้าว่า ใครที่คิดลบนั้น… มันโคตรห่วย!
จะว่าไปในทางตรงกันข้ามนั้น ความคิดลบแบบห่วยๆ กลับมีการศึกษาและวิจัยเรื่องมนุษย์มีความสูงอายุตามสภาพจิตใจ (Psychological Aging) หมายถึง ‘ผู้สูงวัยที่มีมุมมองต่ออนาคตในด้านลบ’ และ ‘คนอายุน้อยที่มองโลกในแง่ร้าย’ นั้นจะมีอายุยืนยาวกว่าพวกโลกสวยสุขนิยม อีกทั้งมีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 10 ในขณะที่คนที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อยมักเป็นพวกโลกสวย ไม่มองปัญหา ไม่มีความระแวดระวังในชีวิตเท่าที่ควร
งานวิจัยให้เหตุผลว่า คนมองโลกในแง่ร้ายหรือมองโลกโดยอาศัยพื้นฐานของความเป็นจริงนั้น จะคอยระมัดระวังป้องกันตนเองมากกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ค่านิยมของการใส่หน้ากากอนามัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งชาวอเมริกันมีความเชื่อว่า คนที่สวมหน้ากากอนามัยคือคนป่วยเท่านั้น คนปกติเขาไม่ใส่กันหรอก! จึงทำให้ช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปี 2020 ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิดนับแสนรายต่อวัน และเสียชีวิตนับล้านคน
Defensive Pessimism การตั้งรับปัญหาที่เต็มไปด้วยความกังวล
หากมัวแต่มองโลกในแง่ร้ายถ้าเกิดปัญหาจะแก้อย่างไร? ตรงนี้ผู้ที่มีมุมมองแบบ Defensive Pessimism กลับได้เปรียบ พวกเขามักจะใช้ความกังวล ความหวาดกลัว มองถึงปัญหาและหาวิธีแก้ไขเพื่อเอาตัวรอด
ขอยกตัวอย่างซีรีส์เกาหลีเรื่อง Squid Game ในตอนที่ 4 Stick to the Team กับการแข่งขันชักเย่อ ซึ่งกติกามีอยู่ว่า ผู้เล่นจะต้องแบ่งทีม ทีมละ 10 คน หากทีมไหนชนะ ทีมนั้นจะเป็นผู้รอดชีวิตเข้ารอบไปลุ้นเงินรางวัล 45,600 ล้านวอนในรอบสุดท้ายต่อไป ซึ่งเกมนี้เส้นเรื่องโฟกัสไปที่ทีมของนักแสดงหลักอย่างซอง กีฮุน (Seong Gi-hun) โจ ซังอู (Cho Sang-woo) และอาลี (Ali Abdul) ผู้ชาย 3 คนที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญของทีม แต่สมาชิกที่เหลือดันเป็นผู้หญิงเสีย 3 คนอย่างคัง แซบยอก (Kang Sae-byeok) ฮัน มินยอ (Han Mi-nyeo) และจียอง (Ji-Yeong ) บวกคุณตาขี้โรคอย่างโอ อิลนัม (Oh Il-nam) รวมไปถึงพวกเพี้ยนๆ ที่เอาแต่บ่นโดยไม่คิดจะทำอะไร และชายผู้เคร่งศาสนาแก้ปัญหาด้วยการสวดมนต์
เนื่องจากทุกเกมต้องเดิมพันด้วยชีวิต ปรากฏว่าโอ อิลนัม หรือผู้เล่นหมายเลข 001 ได้บอกถึงเคล็ดลับในการเอาชนะเกมชักเย่อ ที่เขาคุยโวว่าเชี่ยวชาญการละเล่นนี้และรับประกันว่าถึงทีมของพวกเขาจะมีพละกำลังน้อยกว่าคู่ต่อสู้ แต่ถ้านำแทคติกนี้ไปใช้ ก็สามารถพลิกเกมกลับมาเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะได้อย่างแน่นอน
จะเห็นได้ว่าคนกลุ่ม Defensive Pessimism ไม่ได้ใช้คติพจน์อย่าง ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น’ แต่พวกเขาตั้งความหวังไว้ต่ำ เพราะแทบมองไม่เห็นทางชนะเมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกในทีมฝ่ายตรงข้ามที่ล้วนมีแต่ชายกำยำ ซึ่งคำแนะนำของโอ อิลนัม คล้ายเป็นทุ่นกลางทะเลที่คนเราพยายามกระเสือกกระสนเกาะไว้เพื่อเอาชีวิตรอด ช่างตรงกันข้ามกับคนที่มีแนวคิดแบบ Strategic Optimism โลกสวยจนไม่ยอมมองลึกไปถึงปัญหา
ยกตัวอย่างการเกิดสถานการณ์ร้ายแรงในประเทศหนึ่ง เช่น อุทกภัยน้ำท่วมบ้านเรือนเสียหาย หากสถานการณ์คลี่คลาย ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่จัดการและแก้ไขปัญหานี้โดยตรง อาจมองว่าเป็นความสามารถของตนเอง แต่ถ้าเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นก็จะโทษฟ้าฝนว่าปีนี้น้ำดันมามากกว่าปกติ ซึ่งแท้จริงแล้ว ผู้นำควรวางแผนตั้งรับปัญหาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ต่างหาก
แม้ว่าสองแนวคิดนี้จะต่างกันคนละขั้ว แต่ทั้งตัวเราเองและคนรอบๆ ตัวก็อาจจะมีแนวคิดทั้งสองด้านเต็มไปหมด ดังนั้นจึงไม่สามารถตัดสินได้ว่า สิ่งไหนคือแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดและถูกต้องที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ
Toxic Positivity ความสุขนิยมที่สร้างพิษร้าย
การมองโลกในแง่ดีและการคิดบวกไม่ใช่เรื่องดีหรือ? เชื่อว่าหลายคนกำลังเถียงในใจ ซึ่งจริงๆ แล้ว คนประเภท Toxic Positivity หรือคนที่มองโลกในแง่ดีเกินไปนั้นถูกพูดถึงกันมาพักใหญ่ เนื่องด้วยสังคมปัจจุบันส่งผลให้คนเราอยู่ในสังคมที่วุ่นวายมากขึ้น สภาวการณ์ต่างๆ จึงพยายามยัดเยียดให้คนเราเสพความสุข และโฟกัสแต่อารมณ์เชิงบวกตลอดเวลา
อีกทั้งยังปฏิเสธการเผชิญหน้ากับสิ่งที่มากระตุ้นจิตใจให้คนเรามีความรู้สึกทางด้านลบ จนต้องเก็บซ่อนอารมณ์โศกเศร้า ผิดหวัง ซึ่งเมื่อสะสมไว้ภายในจิตใจนานวันเข้า ก็เปรียบเสมือนยาพิษที่เกาะกินความรู้สึก ทำให้พวกเขามักตกอยู่ในอาการ Toxic Positivity ซึ่งมีความสุขโดยถูกสร้างจากคำพูดของคนอื่น แม้ว่าคนคนนั้นจะมีเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเราก็ตาม
ดร.ลอรา กัลลาเกอร์ (Dr. Laura Gallaher) นักจิตวิทยาจากสถาบัน Gallaher Edge กล่าวถึงอาการ Toxic Positivity หรือคิดบวกจนเป็นพิษไว้ว่า “มันคืออาการขั้นกว่าของการมองโลกในแง่ดี (Optimism) คือการพยายามสะกดอารมณ์หรือความคิดในแง่ลบของตัวเองเอาไว้ภายใต้การมองทุกอย่างในแง่บวก โดยปราศจากความเป็นจริง หรือเหตุผลใดๆ มารองรับ และนำไปสู่ปัญหาตามมามากมาย”
พูดง่ายๆ คือส่วนใหญ่แล้วคนที่อยู่ในกลุ่ม Toxic Positivity ล้วนได้รับอิทธิพลจากสังคมหรือวัฒนธรรมการคิดบวก ที่ผลักให้คนเหล่านี้ออกห่างจากความรู้สึกที่แท้จริงที่ควรจะเป็น และทิ้งให้ติดอยู่กับความรู้สึกผิด (หากเผลอไปคิดลบ) จึงไม่สามารถมีความสุขหรือมองโลกในแง่บวกได้ด้วยตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาพวกเขาก็จะพร่ำบอกตัวเองว่า “โอเคนะ ยังไหว” “เดี๋ยวทุกอย่างจะดีขึ้น” หรือ “มองคนที่เขาแย่กว่าเราสิ”
ซึ่งในมุมของนักจิตวิทยาอธิบายต่อว่า พฤติกรรมลักษณะนี้ เป็นการหาข้ออ้างเพื่อสนับสนุนความคิดตัวเองและปฏิเสธความจริง โดยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหาที่พวกเขากำลังเจออยู่ อย่างที่กล่าวไปว่า Toxic Positivity ไม่ใช่การมองโลกในแง่ดี หรือมองด้านบวกมากเกินไปเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงคนคนหนึ่งที่กำลังหลอกตัวเอง หนีความจริง และปล่อยปัญหาให้ล่องลอยโดยไม่ได้รับการแก้ไข จนอาจลุกลามบานปลายต่อการใช้ชีวิตของพวกเขาเอง
เรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกของตัวเองทั้งด้านบวกและลบ
คนคิดบวกจนไม่กล้าสนใจเรื่องลบๆ อาจมีปัญหาด้านการเข้าสังคมตามมา ด้วยนิสัยภายนอกถูกฉาบด้วยความร่าเริง มองโลกในแง่ดี ราวกับวิ่งกระโปรงบานอยู่ในทุ่งดอกลาเวนเดอร์ พฤติกรรมจึงดูเฟก เข้าถึงยาก ซึ่งจริงๆ แล้วหากคนที่รู้ว่าตนเองกำลังมีอาการแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องรีบเปลี่ยนตัวเอง แค่ถอยออกมาสักหนึ่งก้าว แล้วยอมรับความรู้สึกที่แท้จริง
สเวนด์ บริงก์มานน์ (Svend Brinkmann) นักจิตวิทยาชาวเดนมาร์ก ผู้แต่งหนังสือ Stand Firm: Resisting the Self-Improvement Craze แนะนำว่า “หากเสียใจก็ร้องไห้ออกมา บ่นออกมาบ้าง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนจากทุกข์เป็นสุขในทันที ผมว่าการมีความสุขกลายเป็นหน้าที่ของคนในสังคมไปแล้ว ว่าเราต้องคิดบวก ต้องมีความสุข ถ้าไม่มีความสุขเราจะทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าคิดเช่นนี้จะเป็นปัญหาต่อคนนั้น”
เมื่อเรียนรู้ที่จะยอมรับอารมณ์ที่รู้สึกเศร้าและผิดหวัง แล้วค่อยๆ ระบายอารมณ์เหล่านั้นออกมาด้วยการพูดคุยกับใครสักคนที่เชื่อใจ ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ เพื่อนสนิท คนรักหรือคนที่เราไว้ใจ ซึ่งการแบ่งปันอารมณ์ด้านลบกับคนที่เราเชื่อใจ จะสามารถฟื้นฟูจิตใจ ลดความเครียด ลดความทุกข์ทรมานทางใจที่เคยสะสมมานานลงได้ ที่สำคัญต้องรู้จักเลือกผู้ฟังที่ดี คนที่ไม่ทำให้เรารู้สึกแย่หรืออับอายเมื่อพูดถึงปัญหาของตนเองให้คนคนนั้นฟัง
ในทางกลับกันหากเราอยู่ในฐานะที่ปรึกษา คืออย่าเผลอส่งต่อการมองโลกในแง่บวกจนเกินไป เช่น เวลามีเพื่อนมาปรึกษายามเขาเกิดทุกข์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่าทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองยังคิดบวกไม่พอ เลยไม่มีความสุข สิ่งที่ควรทำคือเมื่อมีคนมาปรึกษาเรื่องอะไรก็ตาม ควรพึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่ใช่ทุกคน (แม้แต่ตัวเราเอง) ที่จะสามารถจัดการกับปัญหาโดยใช้วิธีการคิดบวกแบบเราได้เสมอไป เพราะในบางครั้งอีกฝ่ายอาจต้องการแค่ผู้รับฟังเท่านั้น
จะเป็นไรไป หากรู้สึกไม่โอเคในบางวัน
บางช่วงบางตอนของชีวิต เราอาจจะรู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่มีอยู่บ้างก็ได้ เช่นเดียวกับนิทานของโกมุนยอง (Ko Mun-Yeong) ตัวละครเอกของซีรีส์ดัง It’s Okay to Not Be Okay เธอคือนักเขียนนิทานแสนสวยที่มีบุคลิกต่อต้านสังคม ซึ่งขัดกับบุคลิกอ่อนโยนอย่างที่ใครๆ วาดภาพไว้ ซึ่งการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาของเธอนั้นชัดเจนต่อความรู้สึกว่าเธอกำลังโอเค หรือไม่โอเค
โกมุนยองเล่ามุมมองของตนเองผ่านนิทานเรื่อง เด็กน้อยซอมบี้ เด็กชายผู้โตมากับฝันร้าย และเจ้าหมาในวันใบไม้ผลิ แสดงออกถึงปมความเจ็บปวดที่อยู่ในใจ ปมชีวิตที่ถูกทำร้าย ทุกบาดแผลของเธอถูกถ่ายทอดผ่านลายเส้นดาร์กๆ และเนื้อเรื่องโหดเลือดสาด แตกต่างจากนิทานเด็กที่เราคุ้ยเคย
อีกมุมมองของนิทานโลกสวยสำหรับเด็ก ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ นักจิตวิทยาคลินิก อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงการปลูกฝังภาพฝันอันสวยงามและมีความสุขผ่านนิทานไว้อย่างน่าสนใจว่า
“หากคุณเคยอ่านนิทานเรื่อง ปีเตอร์แพน ประโยคที่ว่า ‘Think of happy thoughts and you’ll fly’ หรือ ‘ถ้าคุณคิดแบบแฮปปี้ คุณจะบินได้นะ’ นี่คือสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ว่าต้องคิดบวกสิ แล้วชีวิตจะมีความสุข มันคือแฟนตาซี ซึ่งจริงๆ แล้วชีวิตคนเรามันมีทั้งบวกและลบ ควรทำอย่างไรให้ชีวิตบาลานซ์มากกว่า แต่หลายครั้งที่คนประเภท Toxic Positivity ไม่สามารถอยู่กับอารมณ์ลบๆ ได้ ไม่สามารถทนอยู่กับความเศร้าได้ เลยพยายามผลักดันให้คนรอบข้างมีอารมณ์ทางบวกไปด้วย
“ตรงนี้เองแตกต่างจากคนประเภท Positive Thinking ที่สามารถมองเห็นปัญหา แล้วพยายามก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแย่ๆ ไปได้ แต่คนแบบ Toxic Positivity จะคิดบวกแบบ Generalization คือเอาไปใช้ในทุกเรื่อง ทุกกรณี สมมติว่าเพื่อนของเราเพิ่งสูญเสียคนรักไป แล้วเราไปบอกเพื่อนว่า ‘มองในแง่ดีสิ มันก็เป็นโอกาสให้เราเริ่มต้นใหม่’ นี่คือกระบวนการทางความคิดของคนที่คิดบวกจนเป็นพิษ คือการมองมุมเดียว”
โลกสวยได้แต่อย่าขาดความเห็นอกเห็นใจ
ทุกวันนี้สังคมพยายามนำเสนอแนวคิดด้านบวกจนขาด Empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) โดยหลงลืมไปว่า ต้นทุนทางด้านความรู้สึกของคนเรานั้นต่างกัน การที่คนหนึ่งผลักให้อีกคนมองโลกในแง่ดีด้านเดียว ก็ไม่ต่างจากการตัดสินคนคนนั้นที่ไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตอย่างตนเองมาก่อน
“คนลักษณะนี้มักขาดการสื่อสารแบบ Empathy คือไม่เข้าใจสภาพจิตใจของผู้สูญเสียที่กำลังเผชิญอยู่ว่า ณ เวลานั้นมันไม่สามารถคิดบวกได้หรอก คนเราต้องเศร้า นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าใครก็ตามที่สูญเสียคนรัก จู่ๆ จะให้มีอารมณ์ Good Vibe แฮปปี้ตลอดเวลา นี่ไม่ใช่ความปกติ ซึ่งคนที่มีแนวคิด Toxic Positivity จึงเชื่อมโยงกับ Empathy ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ พอเราไปบอกให้คนสูญเสียคิดบวกแสดงว่า เราไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของอีกฝ่าย หรือไปตัดสินว่าการที่คุณมัวแต่คิดลบนี่คือสิ่งผิด ต่างจากคนที่คิดบวก (Positive Thinking) เขาอาจจะแค่จับมือเราโดยไม่พูดอะไร แต่กำลังสื่อสารว่า ‘โอเค ฉันเข้าใจเธอนะ’ โดยไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดที่แสดงความอ่อนแอออกมา
“อย่างดิฉันเองเป็นคน Positive แต่ไม่ใช่คนโลกสวย คนคิดบวกจะมองเห็นปัญหานี้ว่ายังมีความหวัง หวังว่าบางสิ่งบางอย่างมันจะดีขึ้น แต่ไม่ใช่คนโลกสวยที่มองทุกอย่างดีเป็นสีชมพูไปหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสังคมเป็นสำคัญ เพราะสังคมมักจะให้คำจำกัดความว่าอะไรคือ ‘ปกติ’ อะไรคือ ‘ไม่ปกติ’ เช่น แนวคิดที่สอนให้คุณแฮปปี้ตลอดเวลา นี่คือปกติ เวลาคุณไม่แฮปปี้คือผิดปกติ จริงๆ แล้วความทุกข์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
“เช่นความสัมพันธ์ในครอบครัว ถ้าสอนให้ลูกคิดบวกจนไม่ยอมให้เขาสัมผัสกับอารมณ์ทางลบเลย เขาก็จะไม่กล้าสื่อสารกับพ่อแม่ โตขึ้นลูกอาจจะขาดสกิลในการแก้ปัญหาและไม่ยอมรับว่าตัวเองมีอารมณ์ในเชิงลบ ดังนั้นพ่อแม่สามารถชี้ให้เห็นมุมมองบางอย่างโดยไม่ตัดอารมณ์ลบของเขาทิ้ง ก็เหมือนให้ความเห็นอกเห็นใจ แล้วต่อไปหากเขามีปัญหา เขาจะกล้าเดินเข้ามาปรึกษาพ่อแม่”
ความจริง ความหวัง เป้าหมาย
หากแนวคิดมองโลกอันสวยงามในทางเดียว คือการมองข้ามความเป็นจริง เพราะตกอยู่ในบริบทของสังคมที่ตั้งธงขึ้นมาแล้วว่า สิ่งไหนคือถูกต้อง
“คนเราต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เราอาจไม่สามารถนิยามว่าคนโลกสวยแบบสุดโต่งนั้นคืออะไร แต่การมองโลกในแง่บวกที่แท้จริง คือการมองเห็นความหวัง ซึ่งความหวังเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงมนุษย์ให้คนเราสามารถเดินต่อไปได้ แล้วความหวังก็ต้องอยู่บนพื้นฐานบนโลกแห่งความจริง นั่นคือการมี Smart Goal Setting เช่น ถ้าตั้งเป้าว่าอยากจะลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมใน 1 อาทิตย์ มันเป็นไปไม่ได้ พอเราตั้งแบบนี้ปุ๊บ เฟลเลย เพราะไม่ใช่การตั้งเป้าหมายที่ดี” อาจารย์กุลวดีกล่าว
ทุกวันนี้สื่อทุกแขนงควรหาวิธีสื่อสารออกไปอย่างไรให้เคลียร์ เช่น กรณีของนักร้องสาวที่สามารถลดน้ำหนักลงได้หลายสิบกิโลกรัมก่อนออกซิงเกิลใหม่ ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดนอกจากงานเพลงของเธอ คือเรื่องรูปร่างที่เปลี่ยนไป สองมุมมองคือความสวยสุดปัง และหุ่นแบบเดิมก็น่ารักอยู่แล้ว ไปลดความอ้วนทำไม ซึ่งฝ่ายหลังอาจจะถูกมองว่าโลกสวยจนน่าหมั่นไส้
“คนที่ชอบพูดเปรียบเทียบคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง หรือชอบทักรูปร่างหน้าตา บางทีเขาคนนั้นอาจยังไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เลยทำให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่าคนอื่นด้วยการใช้คำพูดให้อีกคนรู้สึกไม่ดี ไม่ใช่เตือนด้วยความหวังดีเลย
“Body Positivity หรือความมั่นใจในร่างกายเป็นสิทธิของบุคคล แต่ถ้าคนที่มีน้ำหนักมากๆ มันก็มีจุดที่ไม่ดีต่อสุขภาพ บางคนอยากสุขภาพดี หรือบางคนยังมีความสุขกับการกิน พอใจในรูปร่าง เราก็ไม่สามารถไปตัดสินความสุขของคนคนนั้นได้ เพราะบางอย่างเป็นกรอบความคิดของสังคมที่นิยามว่าแบบนี้คือความสวย
“สิ่งสำคัญไม่ว่าเราจะคิดบวกจนเกินไป หรือคิดลบจนเกินไป คนเราไม่ควรเอามาตรฐานความคิดของตนเอง ไปวางไว้บนบ่าคนอื่น เราไม่สามารถบังคับให้คนอื่นเห็นอย่างที่เราเห็น หรือทำอย่างที่เราทำได้ เพราะต้นทุนและเหตุผลของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน หากบางวันเราอยากร้องไห้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด บางทีร้องไห้เสร็จ เราอาจจะมองเห็นเป้าหมายใหม่ๆ ก็ได้ค่ะ” อาจารย์กุลวดีกล่าว
สุดท้ายหากเราพยายามที่จะกำจัดความรู้สึกด้านแย่ๆ ออกไป แน่นอนว่ามันสามารถทำลายความมืดมนข้างในจิตใจของเราทั้งหมดได้ แต่การโฟกัสแต่ความสุข จนไม่กล้าแสดงความรู้สึกที่แท้จริงอย่างตรงไปตรงมา อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์อื่นๆ ที่สอนบทเรียนให้กับชีวิตในมุมมองใหม่ๆ อีกด้วย
แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/views/article/what-makes-a-great-work-culture