หนึ่งในความต้องการของคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงตัวผมเองนั้น คือการที่เราสามารถทำงานที่บ้านได้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติด การได้พบปะพูดคุยกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปออฟฟิศ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้วเรายังมีเวลาว่างมากขึ้น ได้ทำงานอดิเรก ได้ดูแลสุขภาพ จนกระทั่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามากระตุ้นให้เกิดการ Work from Home จัดระบบการทำงานของคนส่วนใหญ่ให้เป็นการทำงานที่บ้านได้จริงอย่างที่คิด ทำให้เราได้ก้าวเข้าสู่โลกการทำงานยุคสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ

     ในยุคสมัยใหม่ที่ทุกคนต่างย้ายเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น แน่นอนว่ามันส่งผลในแง่ดีด้านความสะดวกสบายในการทำงาน ความรวดเร็วในการสื่อสาร และประสิทธิภาพในการทำงานที่อาจเพิ่มขึ้นด้วย แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ การที่เราต้องใช้เวลาในโลกออนไลน์นานๆ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือสื่อโฆษณาและสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์อยากใช้เงิน อยากช็อปปิ้ง จุดนี้เองที่ทำให้คนที่ทำงานที่บ้านส่วนใหญ่แทนที่จะมีเงินออมมากขึ้น กลับพบว่าค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าออนไลน์สูงขึ้นตามไปด้วย บทความนี้ผมเลยอยากจะแบ่งปันเคล็ดลับการเก็บเงินและการจัดสรรเงินเพื่อลงทุนครับ

     เคล็ดลับการเก็บออมเงินนั้นผมให้น้ำหนักไปที่การตัดสิ่งเร้าหรือต้นเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการใช้เงินออกเป็นหลัก โชคดีที่ยุคสมัยนี้อำนาจในการเลือกดูสื่อย้ายมาอยู่ในมือของผู้บริโภคมากขึ้น การเลือกที่จะดูสื่อโฆษณาน้อยลงนั้นมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยลดอารมณ์อยากซื้อของเราลง เทคนิคเล็กๆ ที่ผมให้ความสำคัญ อย่างเช่น การกดข้าม กดปิด หรือเลื่อนผ่านเมื่อเห็นโฆษณาผ่านเข้ามา ข้อสำคัญคือการฝึกหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าให้เป็นนิสัย

     “It’s easier to avoid temptation than resist it” James Clear

     “การหลีกเลี่ยงสิ่งล่อใจนั้นง่ายกว่าการต่อต้านมัน” เป็นแง่คิดจากผู้เขียนหนังสือ Atomic Habits หนังสือเกี่ยวกับการสร้างอุปนิสัยที่ดี

 จุดนี้ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าการปิดรับสิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่การเปิดรับสิ่งใหม่ที่ดีนั้นควรจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ให้มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้าม หรืออาจไม่เคยรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ เพราะตัวกระตุ้นอารมณ์ใช้จ่ายนั้นแฝงมาในรูปสื่อรอบตัวเราอย่างแนบเนียน ตรงนี้ต้องขอเสริมครับว่า ผมเองเป็นคนชอบใช้ของแบรนด์ ติดใจคุณภาพที่ดี และชอบแฟชั่นเช่นเดียวกัน แต่ผมจะเปิดใจเลือกซื้อของใหม่ๆ ก็ต่อเมื่อผมได้ทำงานใดงานหนึ่งจบลงเสียก่อน แล้วค่อยมองหาสิ่งดีๆ เป็นรางวัลให้กับตัวเองตามความเหมาะสม

     อีกแนวคิดหนึ่งที่เรียบง่ายจากหนังสือ The Latte FactorWhy You Don’t Have to Be Rich to Live Rich คือการดูที่ค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ค่ากาแฟ การกินอาหารนอกบ้าน ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เสริมเข้ามาในสิ่งที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ถ้าเรานำออกมาคิดเป็นตัวเลขรายเดือนจะพบว่ามันคือเงินออมจำนวนไม่น้อยที่สามารถเก็บไว้เพื่อการลงทุนในอนาคตได้

     ในส่วนของการลงทุนนั้น สิ่งแรกที่ต้องรู้คือการฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคารโดยไม่กระจายออกไปซื้อในสินทรัพย์อื่นๆ เลย นั่นคือการลงทุนที่แย่ที่สุด เพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะทำให้มูลค่าเงินในบัญชีนั้นลดลงโดยอัตโนมัติ การฝากเงินออมทรัพย์ไว้นั้นปลอดภัยก็จริง แต่เป็นการลดความมั่งคั่งลงอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีที่สิ้นสุด

     ผมเองจะแบ่งเงินออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือส่วนที่ลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง (Wealth) กับส่วนที่ใช้ลงทุนสำหรับกระจายความเสี่ยง (Diversification) โดยสัดส่วนในการกระจายพอร์ตทั้งหมดของผม คือWealth 70 เปอร์เซ็นต์ และ Diversification 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีที่ถอนออกมาใช้จ่ายบ้าง แต่จะหลีกเลี่ยงการเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารให้ได้มากที่สุด

     สำหรับคนทั่วไปผมแนะนำให้ลงทุนโดยยึดหลักกระจายความเสี่ยงเป็นอันดับแรก สินทรัพย์ที่เข้าลงทุนควรเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว มีความซับซ้อนในการลงทุนน้อย จับต้องได้มากที่สุด โดยเน้นซื้อแล้วถือยาวมอง Return เป็นรายปี เช่น ทอง กองทุน หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ต้องติดตามบ่อย เช่น  

  • ทองควรซื้อเป็นทองแท่งหรือทองรูปพรรณเก็บไว้ ไม่ซื้อในรูปแบบสัญญา Gold Futures 
  • หุ้นควรซื้อเป็นหุ้นสามัญของบริษัท ไม่ซื้อเป็นใบแสดงสิทธิจะซื้อหุ้นสามัญ (Warrant)

     ที่แนะนำแบบนี้ เพราะการถือสินทรัพย์ที่มีวันหมดอายุ หลักไม่กี่ปีอย่าง Warrant หรืออายุสัญญาที่ต้องเปลี่ยนทุกๆ ไตรมาสอย่าง Gold Futures นั้นจะเป็นตัวดึงให้เราต้องตัดสินใจซื้อขายบ่อยครั้ง กล่าวคือแก่นของแนวคิดในการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงนั้นเราเน้นซื้อสินทรัพย์ที่สามารถถือได้ยาว 3-5 ปีขึ้นไปเป็นหลัก หรือ ‘ถือลืม’ ไปเลย ข้อนี้สำคัญ เพราะในยุคที่การเข้าถึงตัวเลขกำไรขาดทุนได้อย่างสะดวก จะทำให้เรามีอารมณ์ร่วม อยากขายออกไปก่อน แล้วค่อยกลับมาซื้อใหม่ นี่เป็นจุดที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถลงทุนได้ในระยะยาว

     เคล็ดลับการลงทุนหุ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง ผมจะเน้นไปที่การเลือกบริษัทที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ มีผลประกอบการรายปีไม่ผันผวนมากนัก โดยพิจารณาย้อนหลัง 3 ปี ยกตัวอย่างหุ้นค้าปลีกเครื่องแต่งกายแม็คกรุ๊ป (MC) เราสามารถพิจารณาผลประกอบการจากกำไรต่อหุ้น (Earning Per Share) ได้โดย MC มี EPS ปี 62-64 = 0.38, 0.51, 0.56 ตามลำดับ สังเกตได้ชัดว่ากำไรต่อหุ้น MC ดีขึ้นในขณะที่มีวิกฤติโควิด-19 แล้วบริษัทยังจ่ายเงินปันผลโดยประมาณ 5-7 เปอร์เซ็นต์ทุกปี แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี เหมาะที่จะลงทุนระยะยาว โดยใช้หลักการ Dollar Cost Average (DCA) ทยอยสะสมหุ้นทุกเดือน

     วิธีการลงทุนง่ายๆ คือถ้าเราแบ่งเงินมาแล้วตั้งใจจะลงทุนในหุ้น MC ปีนี้ 120,000 บาท เราจะแบ่งเงินออกเป็นรายเดือน ตกเดือนละ 10,000 บาท เอาไว้ซื้อหุ้นตัวนี้ทุกสิ้นเดือน โดยไม่ต้องสนใจราคาหุ้น วิธีการนี้เป็นวิธีการที่เรียบง่ายและปราศจากความกังวล ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาผมใช้วิธีนี้ บางปีพอร์ตที่ลงทุนวิธีการ DCA กลับให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพอร์ตอื่นๆ แล้วยังมีเสถียรภาพมากกว่าอีกด้วย

     หมายเหตุ: อ้างอิงผลประกอบการ MC: http://www.set.or.th

Add Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *