หากถามทุกคนว่า “ทันทีที่ตื่นนอนตอนเช้าแล้วหยิบสมาร์ตโฟนมาเล่นโซเชียลมีเดียจนถึงช่วงสาย เป็นสิ่งที่ดีไหม?” หรือ “นั่งดู Netflix จนดึกดื่น ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องตื่นไปทำงานแต่เช้า เป็นสิ่งที่ควรทำหรือเปล่า?” แทบทุกคนทราบดีว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ และบางครั้งก็นึกไตร่ตรองว่าควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็ยังทำมันอยู่ดี เพราะนิสัยเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะแก้กันได้ง่ายๆ
มีคำแนะนำดีๆ จากคุณหมอที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ นักคิด นักปรัชญา ที่เสนอทางออกมากมายเกี่ยวกับเรื่อง ‘นิสัยเสีย’ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่เราก็ยังทำครั้งแล้วครั้งเล่า ใครที่กำลังมองหาเคล็ดลับเพื่อแก้นิสัยเสียของตัวเอง วิธีของศาสตราจารย์ อาร์เธอร์ ซี บรู๊ค (Arthur C. Brooks) จาก Harvard Business School อาจพอช่วยคุณได้
บรู๊ค เขียนคอลัมน์ How to Build a Life บนเว็บไซต์ The Atlantic โดยแชร์การใช้ชีวิตให้มีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากงานวิจัยที่ได้รับความนิยม มีอยู่บทความหนึ่งที่น่าสนใจ Stop Spending Time on Things You Hate แปลเป็นประโยคภาษาไทยก็จะประมาณว่า ‘จงหยุดใช้เวลาไปกับสิ่งที่คุณเกลียด’
เขาเล่าว่า หลังจากที่นอนดู Netflix จนถึงตีสาม เขาก็พบว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้โดยด่วน จึงพยายามค้นหาข้อมูลต่างๆ เพื่อที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการใช้เวลาโดยไร้ค่าสูญเปล่าได้อย่างไร วิธีที่น่าสนใจที่เขาพบ คือ ‘การมอบมูลค่าเป็นจำนวนเงินให้กับช่วงเวลาเหล่านั้น’ นั่นเอง
ในปี 2012 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Toronto ได้ขอให้อาสาสมัครคำนวนตัวเลขค่าเฉลี่ยรายได้ที่พวกเขาได้รับในแต่ละชั่วโมง หลังจากนั้นก็ให้เก็บตัวเลขนั้นไว้ในใจตอนที่กำลังใช้เวลาอย่างเปล่าประโยชน์ สิ่งที่นักวิจัยพบก็คือ ผู้เข้าร่วมการทดลองมักจะรายงานว่าตัวเองใช้เวลากับเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ลดลง ไม่เล่นโซเชียลมีเดียอย่างไร้จุดหมาย พยายามคุมเวลาการดูซีรีส์ใน Netflix ว่าเมื่อไรควรพอ เพราะในหัวจะคอยคิดถึงเวลาที่เสียไปว่ากลายเป็นเงินเท่าไรแล้ว
ยกตัวอย่าง คุณทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ได้ค่าแรง 500 บาท เฉลี่ยต่อชั่วโมง 62.50 บาท เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเล่นโซเชียลมีเดียวันละ 2 ชั่วโมง (โดยเฉลี่ยผู้คนใช้เวลาประมาณ 142 นาที หรือ 2 ชั่วโมงกับ 22 นาทีต่อวัน) นั่นแปลว่าคุณใช้เงินไป 130 บาท ของเวลาที่มีค่ากับกิจกรรมไร้ประโยชน์เหล่านั้น และถ้าใช้เวลารวม 5 ชั่วโมง ก็จะใช้เงินไป 312.50 บาท
ถ้าต้องเสียเงินจำนวน 130 บาท (จริงๆ) เพียงเพราะใช้เวลาไปกับบรรดาโซเชียลมีเดีย นั่นคงไม่มีใครอยากทำ ฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เรากำลังทำบางสิ่งบางอย่างที่ ‘รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยังทำ’ ให้นึกถึงตัวเลขเหล่านี้ในหัวไว้ก่อนเลย แปลงชั่วโมงเป็นตัวเงิน อาจจะช่วยผลักดันให้เราตัดสินใจได้ดีมากขึ้น
บรู๊ค บอกว่า เป้าหมายไม่ใช่การหยุดทุกอย่าง ไม่รีแลกซ์ หรือหยุดทำกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบ แต่เป็น ‘การจัดการ’ ในแต่ละวันให้ดีขึ้น มีเวลาทำในสิ่งที่เราให้คุณค่า เพราะแท้จริงแล้วการใช้ชีวิตอย่างไร้ประโยชน์ คือการทำสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่ากับเรานั่นเอง
การตั้งมูลค่าให้กับเวลา ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องบังคับตัวเองให้ทำงานให้เยอะขึ้น แต่เป็นการเตือนตัวเองในทุกๆ วัน ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งเวลาที่เสียไปรวมๆ กัน ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราที่เสียไปด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจงใช้มันกับสิ่งที่นำความสุขมาให้กับเราจริงๆ แทนที่จะเป็น “อีกนิดนึง” หรือ “อีกสักตอนละกัน”