ถ้าถามว่าไปดื่มที่ Asia Today มาแล้วเป็นไงบ้าง วันเดียวคงเล่าไม่จบ คงเป็นเพราะก่อนหน้านี้เราคือหนึ่งในคนที่ติดตามบาร์พี่บาร์น้องที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามอย่าง Teens of Thailand มาตั้งแต่ร้านเปิดในปี 2015 ติดตามความ ‘พลังเยอะ’ ของแก๊งเจ้าของร้าน กระทั่งร้านติดหนึ่งในบาร์ที่ดีที่สุดในเอเชียสองปีซ้อน (Asia’s 50 Best 2016-2017) และได้ยินมาว่าทางร้านมีโครงการจะเปิด Rum Bar (บาร์ที่โฟกัสเหล้ารัมเป็นหลัก ส่วนทีนส์เขาเอาดีทางเหล้าจิน) จนเริ่มเห็น Asia Today เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในปลายปี 2017
ถ้าตามอินสตาแกรมของ Asia Today คุณอาจจะเข้าใจผิดว่ากำลังติดตามสำนักข่าวที่ไหนซักแห่ง แต่สำหรับเรา มันคือมุมตลกร้ายของกลุ่มคนพลังเยอะเหล่านั้น ประเภทที่อยากทำบาร์ แต่แคร์สังคม และก็อยากสื่อสารออกมาในแบบติดตลก แถมคำว่า Asia Today เองก็เหมือนกับเป็นการเสียดสีความเป็นเอเชีย ที่เหมือนถูกประกอบขึ้นมาจากความไม่เข้ากันทั้งหลายทั้งปวง และนั่นก็ไม่เป็นที่แปลกใจเลยหากร้านจะเลือกใช้ประตูหนีไฟสีขาวเป็นประตูทางเข้า ภายในบาร์ตกแต่งด้วยปลาฉลามตัวใหญ่ห้อยลงมาจากเพดาน ติดภาพโปสเตอร์หนัง Pulp Fiction ที่เหมือนกัน 3 แผ่นบนกำแพง และรูปถ่ายแนวเซ็กซี่ที่แขวนอยู่อีกฟากหนึ่งของร้าน ไม่มีอะไรที่ดูเข้ากัน แต่มันกลับเข้ากันทุกอย่าง และความมั่นใจเหล่านั้นทำให้ Asia Today ไม่เหมือนที่ไหนตั้งแต่คุณก้าวเท้าเข้าไปแล้วละ
จากไอเดียที่อยากจะทำ Rum Bar การเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทำให้โฟกัสหลักของร้านเปลี่ยนไป จากที่เคยเน้นเหล้าเป็นหลัก แต่ตอนนี้กลับเลือกที่จะค้นคว้าหาวัตถุดิบธรรมชาติ เน้นชูโรงวัตถุดิบไทย ทำให้เราได้รู้จักของใกล้ตัวมากขึ้น และให้เหล้า (ที่ส่วนใหญ่ก็คือรัม) มาเป็นส่วนประกอบ ปกติเราจะเห็นขวดเหล้ายี่ห้อต่างๆ วางเรียงอยู่บนบาร์ แต่ที่นี่จะเป็นน้ำผึ้งและวัตถุดิบอื่นๆ ที่ทางเจ้าของร้านไปออกตามหามา เรียกว่าร้านเปิด 5 วัน อีก 2 วันก็ออกเดินทางไปดูถึงไร่ถึงสวน หรือแม้แต่โรงกลั่นเหล้า เพื่อให้มั่นใจว่าเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุดที่พวกเขารู้ที่มาที่ไปของมันจริงๆ
คำพูดหนึ่งที่เราชอบมากและคิดว่าอธิบายความเป็น Asia Today คือที่คุณตุ่น-เกียรติคุณ เอื้องคำ หนึ่งในทีมอธิบายให้เราฟังว่า “สมมติเราพูดถึงดริงค์ง่ายๆ อย่างไดคิรี ที่มีส่วนผสม คือเหล้า น้ำตาล มะนาว สิบปีที่ผ่านมาของการทำบาร์ เราให้ความสนใจกับเหล้า ซึ่งมันคือ 1 ใน 3 แต่พอถามว่า น้ำตาลมาจากไหน ใช้มะนาวอะไร เรากลับไม่ให้ความสำคัญ ตอนนี้เราเลยปรับมุมมองและหันมาให้ความสำคัญกับทุกส่วนโดยเฉพาะวัตถุดิบธรรมชาติจากไทย เราไม่อยากให้คนที่มาถามว่าเหล้าขวดนี้เป็นยังไง แต่อยากให้ถามว่า น้ำผึ้งขวดนี้มาจากที่ไหน เพราะเรามีเรื่องจะเล่าให้ฟังเยอะมาก”
ในบรรดาวัตถุดิบที่ทางร้านหามา น้ำผึ้งคืออย่างหนึ่งที่เด่นมาก ด้วยความที่มีถึง 16 แบบ ซึ่งผึ้งจากแต่ละที่กินน้ำหวานจากที่ไหนก็จะให้คาแร็กเตอร์คนละแบบที่ต่างกัน สำหรับเมนู ทางร้านวางโครงสร้างของสูตรแบบไม่ซับซ้อน เพื่อที่จะดึงให้วัตถุดิบหลักเป็นตัวชูโรง อย่างแก้วแรกคือ Wild Honey Khao Yai (360 บาท) แก้วนี้ทำเป็น Sour-style หรือการใช้มะนาวกับไข่ขาวมาผสมกับความหวาน ในที่นี้คือน้ำผึ้งจากเขาใหญ่ และเหล้ารัมสองชนิด เชคให้ขึ้นฟอง ก่อนเสิร์ฟเป็นค็อกเทลดื่มง่ายแต่หอมน้ำผึ้ง ต่างจากซาวร์ที่เคยจิบ
แก้วถัดมาคือ Rum Old-Fashioned (340 บาท) ที่แก้วนี้เลือกให้น้ำตาลมะพร้าวจากธรรมชาติเป็นพระเอกชูโรง โดยเลือกใช้น้ำตาลมะพร้าวแทนน้ำตาลปกติที่ใช้ในการทำ Old-Fashioned และเลือกเหล้าหลักเป็นรัมสองชนิด ตบท้ายด้วยบิตเตอร์ แก้วนี้จิบเพลิน อย่ากลัวว่าจะหวานเกินไปเพราะน้ำตาลมะพร้าวไม่หวานบาดคอ แต่หวานหอมออกแนวสดชื่นมากกว่า
สำหรับใครที่ชอบ Dirty Martini หรือ Gibson (อธิบายง่ายๆ Gibson คือมาร์ตินี่ที่ใช้หอมดองแทนมะกอก) ที่นี่เลือกกระเทียมโทนที่เป็นสินค้า OTOP จากจังหวัดลำปาง มาทำเป็น Pickled Elephant Garlic (360 บาท) ในสไตล์ Gibson ด้วยการผสมวอดก้า กับรัม เวอร์มุธ และน้ำกระเทียมดอง (brine) เล็กน้อย ก่อนแต่งด้วยกระเทียมและเปลือกส้ม
คาแร็กเตอร์อีกอย่างของทางร้านคือ ด้วยความที่ทางร้านออกหาวัตถุดิบตลอดเวลา ทำให้บางทีกลับมาอีกครั้งเมนูก็จะไม่เหมือนเดิม อย่างใบหูเสือที่ทางร้านปลูกเอง ที่เราได้ยินชื่อเสียงเรียงนามมานานว่าร้านนำมาทำค็อกเทล แต่ด้วยความเชื่องช้าของเราทำให้อดชิม เพราะหมดซะก่อน ฉะนั้นไปถึงร้านอย่าลืมเช็กวัตถุดิบใหม่กับบาร์เทนเดอร์ พร้อมกับฟังเรื่องราวของวัตถุดิบที่ไปเสาะหามา ว่ากว่าจะได้มานั้นลำบากหรือยากแค่ไหน แล้วคุณจะเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้เขาพลังเยอะกันขนาดไหน
Asia Today. 35 ซ.รามไมตรี ถ.ไมตรีจิตต์ โทร.09-7134-4704 เปิดวันพุธ-อาทิตย์ 20:00-01:30 น.
แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/lifestyle/article/asia-today