หากใครเคยดูสารคดี The Social Dilemma ที่ฉายบนเน็ตฟลิกซ์ จะพบว่ามันสะท้อนให้เห็นด้านมืดของโซเชียลมีเดียในทุกมิติ ตั้งแต่การปลุกปั่น การสร้างความแตกแยกในสังคม เลยไปจนถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิต 

     อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้านดีของโซเชียลมีเดียก็มีอยู่มาก เป็นพื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม ความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสาร การรับรู้ข้อมูลข่าวสารและความรู้ต่างๆ ไปจนถึงการเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างจากรัฐ

พลังของโซเชียลมีเดียมีอยู่จริง

     พลังของโซเชียลมีเดียนั้นมีอยู่จริง และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องบางอย่างของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะประเด็นเชิงการเมืองและสังคม ดังเช่นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกอย่าง ‘อาหรับสปริง’ การประท้วงทั่วตะวันออกกลาง ที่ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในการปลุกระดมคน ‘Occupy Wall Street’ การประท้วงสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอาหรับสปริง และการ ‘ปฏิวัติร่ม’ ในฮ่องกง ที่ใช้แอปพลิเคชั่นและเทเลแกรมเป็นช่องทางการสื่อสารหลักของผู้ชุมนุม 

     ผศ. ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือ NIDA อธิบายว่า จากเดิมที่สังคมอยู่กันแบบแยกส่วน แต่เมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมีความแข็งแรงมากขึ้น เกิดการเชื่อมต่อ เลยร้อยสังคมเข้าไว้ด้วยกัน ที่เรียกว่า Network Society แล้วยิ่งระยะเวลาผ่านไป คนทุกภาคส่วนเห็นพลังของโซเชียลมีเดีย จึงใช้ประโยชน์กับสิ่งที่ตัวเองสนใจ  

     “พลังของโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นอย่างที่รู้กันคืออาหรับสปริง ซึ่งเป็น Social Movement ประเด็นทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ไม่จำกัดแค่เรื่องการเมือง แต่มีเรื่องของวัฒนธรรม สังคม เช่น การเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ การรณรงค์ยกเลิกฉากข่มขืนในละคร เป็นต้น แม้แต่ในเชิงบวกอย่างการบริจาค ช่วยเหลือ หรือเว็บไซต์ change.org ก็เป็นตัวอย่างของการใช้สื่อออนไลน์ในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคม

#ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยการด่า 

     อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างน้อยก็ในสถานการณ์การจัดการกับโควิด-19 ตั้งแต่การควบคุมการระบาด การปล่อยให้เกิดคลัสเตอร์ ปัญหาการจัดการบริหารวัคซีน การเลือกนำเข้าวัคซีนที่ล่าช้า และมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ส่งผลให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางในการด่ารัฐ จนเกิดเป็น #ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยการด่า 

     “ด้วยพลวัตโลก การรับรู้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องราวต่างๆ ที่ใกล้ตัวมากขึ้น พลังของอินเทอร์เน็ตที่สร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ และโควิด-19 ที่ทำลายวิถีชีวิตเรา ทำให้การใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียมีมากขึ้น จากประเด็นการเมือง การบริหารจัดการของภาครัฐ ที่เราอาจไม่เคยสนใจ พอโควิด-19 กระทบทุกคน เรารู้เห็นและได้รับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะของต่างประเทศ เลยปลุกให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง” ผศ. ดร.ชนัญสรา ให้ความเห็น

     “การที่ชาวเน็ตบ่นกันว่า ‘ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยการด่า’ อย่างน้อยรัฐก็พยายามรับฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งเราพูดกันเสมอว่าอยากได้ผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจ ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา แสดงว่าเขาพยายามฟังเราอยู่ เป็นสัญญาณที่ดี มันมีพลังมากพอว่า สิ่งที่เราส่งเสียงไปมีคนฟัง แม้ไม่ใช่ทุกเรื่องก็ตาม”

     ผศ. ดร.ชนัญสรา บอกว่ายุคนี้เป็นการคอลลาบอเรชั่น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น กลุ่ม LQBTQ ที่ขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก็จะมีคนกลุ่มอื่นที่เห็นแล้วเข้ามามีส่วนร่วม และส่งเสียงออกไป กลายเป็นอเจนด้าระดับโลก ที่เห็นว่าบางครั้งในภาคเอกชน ก็นำไปเป็นจุดขายในการสร้างแบรนด์ โดยที่โซเชียลมีเดียช่วยสร้างพลังให้ประเด็นเหล่านี้ขยายและกระจายออกไป

ด่าอย่างสร้างสรรค์

     ผศ. ดร.ชนัญสรา ตั้งข้อสังเกตว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของชาวเน็ตที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยต้องเป็นเหตุเป็นผลที่คนทั่วไปเข้าใจได้ ไม่ได้อยู่บนความเกลียดชัง ดังเช่นกรณีปัญหาเสื้อแข่งของเมย์ – รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันทีมชาติไทยในโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่เสียงของชาวเน็ตพูดถึงเสื้อแข่งของน้องเมย์ว่าดูใหญ่เกินไป ไม่คล่องตัว เมื่อเทียบกับชุดแข่งของนักกีฬาแบดมินตันชาติอื่น จนนำไปสู่การเปลี่ยนเสื้อแข่ง 

     “สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการด่า มันสะท้อนว่าในการออกนโยบายหรือสิ่งที่รัฐทำ ก็อาจมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะไม่ถูกใจทุกคน แต่ในฐานะพลเมืองเน็ต เรามีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ บ่น ชอบหรือไม่ชอบอะไร ด้วยข้อมูลและหลักการ ซึ่งเป็นการด่าอย่างสร้างสรรค์

     “การด่าอย่างเดียวไม่ช่วยอะไร ต้องมีข้อมูลและหลักการ มีทางออกหรือโซลูชั่นบางอย่าง จะทำให้ฝั่งที่โดนด่า ไม่ได้รู้สึกว่าโดนด่าอยู่ฝ่ายเดียว และภาครัฐเองก็ต้องรับฟัง ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ก็ตาม แน่นอนว่าภาครัฐก็จะต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และมีความโปร่งใส ก็น่าจะเป็นการหาทางออกร่วมกันมากกว่า

     “เส้นบางๆ ที่ไม่ควรข้ามไป คือการด่าด้วยความเกลียด เรื่อง Hate Speech ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย มีข้อกังวลอยู่ว่าเบื้องหลังของอัลกอลิทึ่ม เราจะอยู่ในกลุ่มของคนที่เห็นพ้องต้องกันเท่านั้น หรือที่เรียกว่า Echo Chamber ซึ่งมันมีความละเอียดอ่อน ถ้าเราจะคุยกันแค่ในกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเราหรือเปล่า ถ้าสิ่งที่เราอยากขับเคลื่อนมันจะกระทบกับคนกลุ่มอื่น ตัวเราเองก็ต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ว่าสิ่งที่เราอยากให้มันเกิดกระทบกับเขาในแง่ใดบ้าง” ผศ. ดร.ชนัญสรา กล่าวทิ้งท้าย

แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/views/article/what-makes-a-great-work-culture

Add Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *