ปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากมักทานอาหารเสริมเพื่อเพิ่มสิ่งที่ร่างกายขาด หรือบางคนอาจทานด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ซึ่งหากเป็นการทานภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรคงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากซื้อทานเองคงต้องระวังสักหน่อย เพราะมีการศึกษาที่พบว่า 4 อาหารเสริมเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้
1. เซเลเนียม (Selenium)
เซเลเนียม มักพบในหอยนางรม ไข่ ปลาซาร์ดีน และเมล็ดดอกทานตะวัน ให้ประโยชน์ต่อร่างกายทั้งเสริมการทำงานของระบบเผาผลาญ รวมทั้งช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ อย่างไรก็ตามมีงานศึกษาโดยบรรดานักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมเดนา ซึ่งเผยแพร่ในศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพ Cochrane Library ที่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับแร่ธาตุนี้โดยเฉพาะ เพื่อดูว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้หรือไม่ แต่ผลที่ออกมากลับตรงกันข้าม เพราะนอกจากไม่ลดความเสี่ยงแล้ว บางการทดลองยังพบว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ทานอาหารเสริมนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับปริมาณการรับประทานเซเลเนียมที่หน่วยงานบริการสุขภาพแห่งชาติ National Health Service หรือ NHA ของสหราชอาณาจักรแนะนำแก่ผู้ที่มีอายุ 19-64 ปี คือ 0.075 มิลลิกรัมสำหรับผู้ชาย และ 0.060 มิลลิกรัมสำหรับผู้หญิง
2. เบตาแคโรทีน (Beta-Carotene)
แม้เบตาแคโรทีน จะมีอยู่ในแครอท ผักกาดแก้ว มะเขือเทศ และบร็อกโคลีอยู่แล้ว แต่บางคนยังทานอาหารเสริมเบตาแคโรทีนเพื่อช่วยให้มีสุขภาพตาที่ดีขึ้นเสริมการมองเห็นและมีสุขภาพผิวดี อย่างไรก็ตามมีการศึกษาในปี 2019 โดยทีมนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันจากหลายสถาบันด้านสุขภาพในสหรัฐอเมริกาและสถาบันสุขภาพในฟินแลนด์ซึ่งเผยแพร่ใน National Library of Medicine ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ทานอาหารเสริมแร่ธาตุนี้กับโรคมะเร็งปอด อย่างไรก็ตามสิ่งนี้พบในผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยเกี่ยวข้องกับแร่ใยหินเท่านั้น
นักวิจัยได้ดูไปที่ผู้สูบบุหรี่จำนวน 29,000 คนแล้วพบว่าผู้ที่ทานอาหารเสริมเบตาแคโรทีน 20 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลา 5-8 ปีมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคำแนะนำเกี่ยวกับการทานอาหารเสริมเบตาแคโรทีนจาก NHA คือ ไม่ควรทานเกิน 7 มิลลิกรัมต่อวันยกเว้นมีคำแนะนำจากแพทย์ รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่และเกี่ยวข้องกับแร่ใยหินยังถูกแนะนำว่าไม่ควรทานอาหารเสริมเบตาแคโรทีน
3. กรดโฟลิก (Folic Acid)
กรดโฟลิกเป็นสิ่งที่คนทานเสริมจำนวนมาก และยังมีคำแนะนำให้ผู้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ทาน เพราะมีส่วนช่วยในการสร้างตัวออ่อน ช่วยป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาท ซึ่งคำแนะนำในการทานกรดโฟลิกสำหรับคนที่วางแผนจะตั้งครรภ์จาก NHA คือ ทาน 400 ไมโครกรัมทุกวันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งตั้งครรภ์แล้ว 12 สัปดาห์
สำหรับความเชื่อมโยงกรดโฟลิกกับโรคมะเร็งมาจากผลการศึกษาที่เผยแพร่ใน National Library of Medicine ปี 2019 ซึ่งพบว่าผู้ที่ทานกรดโฟลิกร่วมกับยาแอสไพริน มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้น 21 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งนักวิจัยยังพบว่ามีจำนวน 38 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกศึกษาเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามการศึกษานี้มีกับคนจำนวน 1,021 คนซึ่งทั้งหมดถูกวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกที่ลำไส้แล้ว
4. วิตามินอี (Vitamin E)
มีการศึกษาโดยทีมนักวิจัยของสถาบันเภสัชกรรมและศูนย์วิจัยเพื่อการป้องกันโรคมะเร็งของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่เผยแพร่ในปี 2012 เกี่ยวกับความสามารถในการป้องกันมะเร็งของวิตามินอี แต่กลับพบว่านอกจากไม่สามารถป้องกันมะเร็งได้แล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้นด้วยในกลุ่มผู้ทานวิตามินอีที่มีอัลฟา-โทโฟฟีนอล (α-tocopherol) สูง โดยอัลฟา-โทโฟฟีนอลเป็นโครงสร้าง 1 ใน 8 รูปแบบของวิตามินอี
แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/lifestyle/article/what-has-changed-wimbledon-2022