การบริโภคเกลือมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ โดยมีคำแนะนำว่าผู้ใหญ่ควรบริโภคเกลือไม่เกิน 6 กรัมหรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน อย่างไรก็ตามการควบคุมปริมาณเกลือที่ทานเข้าไปในแต่ละวันอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนจำนวนมาก เพราะนอกจากปริมาณเกลือที่มีอยู่ในอาหารอยู่แล้วจากการปรุง หลายคนยังนิยมเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงรสที่มีเกลือเป็นส่วนผสมลงไปในอาหารเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากชอบทานอาหารรสเค็ม นักวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่นจึงคิดค้นตะเกียบไฟฟ้าที่ช่วยลดการบริโภคเกลือลงแต่ยังคงได้รสเค็มที่หลายๆ คนชอบได้

     ศาสตราจารย์ โฮเมอิ มิยาชิตะ (Homei Miyashita) จากมหาวิทยาลัยเมจิ (Meiji University) ได้ร่วมมือกับคิริน (Kirin) บริษัทเครื่องดื่มในญี่ปุ่นพัฒนาตะเกียบที่เพิ่มรสเค็มให้กับอาหารได้ออกมา เป็นตะเกียบที่มีสายเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กสำหรับสวมไว้ที่ข้อมือ โดยหลักการทำงานของอุปกรณ์ทานอาหารที่ถูกคิดค้นนี้คือ ตะเกียบจะใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนๆ สร้างการกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อนำอนุภาคโซเดียมในอาหารเข้าสู่ปากผู้ทานผ่านทางตะเกียบ เพื่อสร้างความรู้สึกความเค็ม ซึ่งศาสตราจารย์มิยาชิตะระบุว่าด้วยการใช้ตะเกียบไฟฟ้าจะทำให้รู้สึกถึงรสเค็มเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า

  ที่มาของการพัฒนาตะเกียบไฟฟ้าเนื่องจาก ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการทานอาหารเค็มจนทำให้ผู้ใหญ่ญี่ปุ่นบริโภคเกลือโดยเฉลี่ย 10 กรัมต่อวันหรือเกือบ 2 เท่าของปริมาณเกลือที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งการบริโภคเกลือมากสามารถนำมาสู่โรคต่างๆ อย่างความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยทาง ไอ ซาโตะ (Ai Sato) นักวิจัยจากคิรินได้บอกว่า “เพื่อป้องกันโรคต่างๆ เราจำเป็นต้องลดประมาณเกลือที่ทานลง อย่างไรก็ตามวิธีเลี่ยงเพื่อทานเกลือให้น้อยลงทั่วไป จะทำให้เราต้องนำบางสิ่งที่ชื่นชอบออกไปจากอาหารหรือทานอาหารที่จืดชืด”

     ศาสตราจารย์มิยาชิตะกับบริษัทคิรินกำลังปรับปรุงตะเกียบไฟฟ้าต้นแบบอยู่ และหวังว่าจะมีการทำออกมาขายในช่วงต้นปีหน้า

     ไม่เพียงแค่การพัฒนาตะเกียบไฟฟ้าเท่านั้น ศาสตราจารย์มิยาชิตะและทีมงานพยายามศึกษาวิธีการต่างๆ เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างความรู้สึกถึงรสชาติให้กับคนได้ โดยก่อนหน้านี้เคยพัฒนาทีวีเลียหน้าจอได้เพื่อรับรู้ถึงรสชาติอาหารที่อยู่ในทีวีมาแล้ว

แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/toys/article/japan-develop-electric-chopsticks-enhance-salty-taste

Add Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *