ในสภาวะที่ประเทศไทยต้องเจอกับการล็อกดาวน์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบไปถึงภาพรวมของตลาดหุ้นมากพอสมควร วันนี้ผมเลยอยากพูดถึงการจัดสรรพอร์ตลงทุน แนวคิดการเลือกหุ้น และวิธีทำให้ชีวิตการลงทุนของเราอยู่รอดได้จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ

     ก่อนอื่นผมขอพูดถึงข้อดีที่พอจะนึกได้ในสถานการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้น จากการที่ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดจนมาปิดกั้นการเดินทางเข้าออกของแต่ละเขต แต่ละประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันได้กระชับโลกการลงทุนรูปแบบออนไลน์ให้ง่ายขึ้น ลดขั้นตอนความยุ่งยากลงไปมากทั้งภายในและต่างประเทศ ตั้งแต่การเปิดบัญชีลงทุน การยืนยันตัวตน การส่งเอกสารต่างๆเพื่อขออนุมัติ บางแพลตฟอร์มทำได้เสร็จทั้งกระบวนการภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็เริ่มลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ ได้ทันที

ทุกๆ ปีผมจะวิเคราะห์ตลาดในภาพใหญ่ก่อนว่าหุ้นกลุ่มไหนจะมีผลประกอบการที่ยังดีอยู่ กลุ่มไหนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของ Catalyst ในแต่ละปี ปีนี้ถือเป็นปีที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษเนื่องจากผลกระทบจากการล็อกดาวน์นั้นสร้างความเสียหายในวงกว้างมาก และกินเวลานานกว่าทุกเหตุการณ์ในอดีต แก่นของการจัดพอร์ตในสถานการณ์แบบนี้ คือการเน้นวางเงินให้พอร์ตมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่ได้เน้นไปที่การเติบโต ผมเองปรับเพิ่มสัดส่วนเงินไปลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสมากนัก เช่น

  • กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล 25 เปอร์เซ็นต์ : กลุ่มนี้จัดว่าไม่กระทบ ได้รับอานิสงส์บวก
  • กลุ่มธุรกิจค้าขายสินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไอที 25 เปอร์เซ็นต์ : กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการปิดหน้าร้าน แต่ได้รับผลบวกจากการซื้อสินค้าจำพวกคอมพิวเตอร์ไปใช้ Work from Home มากขึ้น
  • กลุ่มธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง 25 เปอร์เซ็นต์ : รับผลกระทบจากการปิดสาขา แต่ได้รับผลบวกจากคนอยู่บ้าน แล้วต้องซื้อของไปใช้ซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้าน
  • ส่วนอีก 25 เปอร์เซ็นต์ จะถือไว้รอจังหวะเก็งกำไร ตามรอบราคาสินค้า Commodity เช่น หุ้นกลุ่มเหล็ก กลุ่มโรงงานน้ำตาล โรงงานยางพารา และกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ

     โดยหุ้นกลุ่มที่กระจายถือนั้นจะเลือกจากงบการเงินที่มีรายได้และกำไรเติบโต 5-20 เปอร์เซ็นต์ เทียบรายไตรมาสกับปีก่อนหน้าเป็นหลัก โดยธุรกิจที่เลือกนั้นต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมากนัก และจะต้องไม่ถูก Disrupt

     นอกเหนือจากหลักคิดในการเลือกหุ้นแล้ว เรายังต้องมีแผนสำรองเผื่อไว้ในกรณีหุ้นที่เราถือเกิดไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้ โดยดูจากสัดส่วนความคุ้มค่าในการลงทุน ที่เรียกว่า ‘Reward to Risk Ratio’ หรือ RR

     โดยปกติในการลงทุนที่คุ้มค่าต้องมีสัดส่วน RR อย่างน้อย 2 : 1 ขึ้นไป (ค่า RR ยิ่งมากยิ่งดี) กล่าวคือ ถ้าเราคาดหวังกำไร 2 บาทจากหุ้น ความเสี่ยงที่เราจะรับการขาดทุนต้องไม่เกิน 1 บาท เพื่อให้เห็นภาพผมจะยกตัวอย่างการวางแผนเพื่อลงทุนจากกราฟย้อนหลัง 1 ปีของหุ้นโรงพยาบาลจุฬารัตน์ CHG ตามภาพนี้ครับ

     จากกราฟหากผมเริ่มเข้าลงทุนในหุ้นตัวนี้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริเวณแนวต้าน 2.70 บาท ผมจะยอมขายตัดขาดทุน(Cut Loss) เมื่อราคาหุ้นลงมา บริเวณแนวรับไม่เกิน 2.30 บาท นั่นคือ

  • Risk = 2.70-2.30 = 0.40 บาท ซึ่งกำไรที่เราคาดหวังควรจะมีค่า 2 เท่าของ Risk ขึ้นไปจะได้
  • Reward = 0.40×2 = 0.80 บาท หรือมากกว่านั้น ซึ่ง Reward to Risk Ratio = 0.80/0.40 = 2 : 1 
  • ดังนั้นเป้าหมายราคาที่เราคาดหวังว่าหุ้นตัวนี้ควรจะเป็น = 2.70 + 0.80 = 3.5 บาท ขึ้นไป

     เมื่อวางแผนการลงทุนไว้แล้ว ก็ต้องศึกษาต่อว่ามูลค่าของหุ้น CHG ที่แท้จริงควรเป็นเท่าไร ซึ่งหาได้จาก

  • บทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ (Brokers) หรือผู้แนะนำการลงทุน
  • ศึกษากราฟ Technical การหาเป้าจาก Pattern ของกราฟ การใช้ Fibonacci ฯลฯ
  • ศึกษาการประเมินมูลค่าหุ้นจากหนังสือ หรือจากการเรียนคอร์สลงทุนหุ้น

     ถ้าพอร์ตผมมีเงินต้น 1,000,000 บาท ผมอาจแบ่งเงินมาลงทุนในหุ้น CHG 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือ 100,000 บาท ที่ราคา 2.70 บาท จะได้ทั้งหมด 37,000 หุ้น

  • กำไรที่คาดหวัง (Reward) = 0.80 x 37,000 = 29,600 บาท หรือประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต
  • ความเสี่ยงที่ยอมขาดทุน (Risk) = 0.40 x 37,000 = 14,800 บาท หรือประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต

     ผมแนะนำให้มือใหม่ที่ต้องการลงทุนเริ่มจากการเอาเงินที่ยอมเสียได้ โดยไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมาเริ่มลงทุน ช่วงแรกเราอาจวางแผนลงทุนอิงไปกับบทวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์หลายๆ เจ้าไปก่อน ให้เวลาเป็นตัวเฉลย จะถูกหรือผิด กำไรหรือขาดทุนไม่สำคัญ สิ่งที่คาดหวังจากการลงทุนนั้น คือเราได้เรียนรู้อะไร จดทุกสิ่งทุกอย่างลงไป ทำไมเราถึงได้กำไร ทำไมถึงขาดทุน

     บนการวางแผนลงทุนทั้งหมดนี้ เราจะต้องจำกัดความเสียหายของพอร์ตโฟลิโอในภาพรวมเป็นหลัก โดยความเสียหายที่ผมยอมรับได้จะอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต เช่น ถ้าเงินต้นทั้งหมดที่เรามีคือ 1,000,000 บาท เราจะยอมทนขาดทุนมากสุด 200,000 บาทจากหุ้นทั้งหมดที่ถือ ถ้าหุ้นในพอร์ตติดลบลงมาจนถึงจุดนี้ ผมจะยอมขายตัดขาดทุนหุ้นทั้งหมดออกไปก่อน แล้วหยุดลงทุน ถอยออกมาทบทวนแผนการลงทุน ทบทวนความรู้ ข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น หาเหตุที่ทำให้ขาดทุนในครั้งนี้ให้เจอให้ได้ก่อน ตั้งสติให้ดี เติมความรู้จากการอ่านหนังสือ การเรียนคอร์สต่างๆ หาเพื่อนร่วมลงทุนในสายนี้เพื่อปรึกษาช่วยเหลือกัน แล้วค่อยกลับไปลงทุนใหม่

     ตั้งแต่มีไวรัสโคโรนา ผมเองยอมรับว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตั้งยากขึ้นพอสมควร แต่กลับกันหุ้นเทคโนโลยี AI และ Gaming ในต่างประเทศกลับได้รับผลประโยชน์ กลายเป็นขาขึ้น ดังนั้นผมจึงสนับสนุนให้เปิดใจศึกษาการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศไว้ครับ

แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/lifestyle/article/tips-for-saving-money-and-investing

Add Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *