สำหรับคนที่ชอบเคี้ยวน้ำแข็งเป็นกิจลักษณะ นี่อาจส่งผลเสียต่อปากและฟันของคุณโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งยังเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ นอกเหนือจากปากและฟันได้
แมทธิว คุก (Matthew Cooke) ศาสตราจารย์ด้านทันตกรรมเด็กและวิสัญญีวิทยาจาก University of Pittsburgh Health Science ได้อธิบายสาเหตุของเรื่องนี้ว่า “การเคี้ยวน้ำแข็งไม่ดีต่อสุขภาพปาก และถ้าโชคร้ายก็อาจทำให้เสียเงินจำนวนมากให้กับหมอฟัน” โดย แมทธิว คุก เสริมต่อว่า การเคี้ยวน้ำแข็งทำให้ อีนาเมล (Enamel) ซึ่งเป็นชั้นเคลือบฟันที่อยู่นอกสุดแตกร้าวได้ ส่งผลให้ฟันมีความไวต่อการรู้สึกมากขึ้นเมื่อสัมผัสสิ่งต่าง ๆ
ผู้ที่อุดฟัน ใส่ฟันปลอม เคลือบฟัน ดัดฟัน และใส่รีเทนเนอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยรักษาสภาพฟันหลังการจัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากเคี้ยวน้ำแข็งก็จะยิ่งทำให้เกิดอันตรายกับฟันมากยิ่งขึ้น โดยศาสตราจารย์บอกว่าปัญหาที่ตามมาอาจจะมีตั้งแต่การอุดฟันไปจนถึงการรักษาอาการเสียวฟัน
นอกจากปัญหาสุขภาพฟันแล้ว ผู้ที่ชอบเคี้ยวน้ำแข็งจนติดเป็นนิสัย ซึ่งถูกเรียกว่า ‘โรคติดน้ำแข็ง’ หรือ ‘Pagophagia’ อาจมีปัญหาสุขภาพในด้านอื่น ๆ ด้วย โดย Healthline เว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลด้านสุขภาพ ระบุว่า คนที่เป็นโรคติดน้ำแข็งมักมีอาการภาวะโลหิตจางจากการธาตุขาดเหล็ก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการเคี้ยวน้ำแข็งกับภาวะโลหิตจาง แต่มีการตั้งสมมติฐานว่า การเคี้ยวน้ำแข็งอาจป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการจากภาวะโลหิตจางได้ เนื่องจากมีการนำอ็อกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้นในผู้ที่มีอาการอ่อนล้าซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลหิตจาง
โรคติดน้ำแข็งยังอาจเป็นผลมาจากภาวะการรับประทานสิ่งที่ไม่ใช่อาหารที่ถูกเรียกว่า Pica ซึ่งเป็นอาการรับประทานอย่างน้ำแข็ง กระดาษ หรือเส้นผม โดยองค์กรการกุศล Beat ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความผิดปกติในการรับประทานได้อธิบายว่า “ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะอาการดังกล่าว จะมีพฤติกรรมในลักษณะนี้อย่างน้อยหนึ่งเดือน โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัฒนธรรมและพัฒนาการที่ไม่เหมาะสม โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งครรภ์ ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ออทิสซึม มีความผิดปกติทางพัฒนาการ โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรคจิตเภท
วิธีเลิกเคี้ยวน้ำแข็ง
ผู้ที่รู้ตัวว่าชอบเคี้ยวน้ำแข็ง ศาสตราจารย์แมทธิว คุก มีวิธีต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยให้เลิกพฤติกรรมเคี้ยวน้ำแข็งคือ
- อมน้ำแข็งให้ละลายในปาก แทนการเคี้ยวก้อนน้ำแข็ง ซึ่งจะทำให้ได้ความรู้สึกพึงพอใจจากความเย็นและความรู้สึกสดชื่นนานขึ้น โดยที่ไม่ทำลายฟันและเหงือก
- หยุดรับประทานอาหารที่ต้องใส่น้ำแข็ง ศาสตราจารย์คุกแนะนำว่า หากไม่มีน้ำแข็งในแก้วก็จะไม่มีความรู้สึกอยากเคี้ยวน้ำแข็ง ซึ่งยังเป็นการช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับฟันด้วย เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับแบคทีเรียที่อยู่ในเครื่องทำน้ำแข็ง
- เปลี่ยนมาใช้น้ำแข็งขนาดเล็กลง แทนการใช้น้ำแข็งก้อนใหญ่ เพราะไม่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวมากนัก
- เคี้ยวสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแทน หากติดการเคี้ยวน้ำแข็งในเวลาว่างหรือขณะทำกิจกรรมอย่างดูทีวี ลองเปลี่ยนมาเคี้ยวแครอตดิบ แอปเปิล หรือผลไมัที่มีลักษณะเนื้อกรอบฝานเป็นชิ้นแทน เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความอยากเคี้ยวได้ พร้อมกับกระตุ้นให้มีการไหลเวียนของน้ำลายซึ่งช่วยปกป้องปาก รวมทั้งเนื้อผลไม้ที่มีลักษณะเป็นเส้นใยยังช่วยทำความสะอาดฟันด้วย
แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/lifestyle/article/what-has-changed-wimbledon-2022
- July 5, 2022
- 45
- 0
- Lifestyle