“Eight hours’ labour, Eight hours’ recreation, Eight hours’ rest” สโลแกนของ eight-hour day movement โดย โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) ผู้ขับเคลื่อนให้ผู้ใช้แรงงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรม หลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่มนุษย์ ในสายตานายจ้าง เมื่อมีเครื่องจักรเข้ามาเหมือนกับแรงงานจะไม่ได้ทำงานหนักเท่าแต่ก่อนอีกแล้ว จึงเกิดการเอารัดเอาเปรียบผ่านชั่วโมงการทำงาน แนวคิดการทำงานแปดชั่วโมงต่อวันจึงได้ถือกำเนิดขึ้นและเป็นรากฐานของชั่วโมงการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะในโรงงานอุตสาหกรรม อออฟฟิศ หรือห้างร้านทั่วไปก็ตาม
สี่สิบชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นชั่วโมงการทำงานที่ถูกยึดเป็นมาตรมาถึงวันนี้ ชั่วโมงการทำงานมาตรฐานของทั่วโลกจึงอยู่ที่ประมาณ 40-45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีบางที่ที่น้อยกว่านี้และบางที่ที่เยอะขึ้นหลายเท่าตัว แต่โลกของการทำงานมาถึงวันที่ถูกพลิกโฉมพร้อมกันทั้งโลก หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดการตั้งคำถามต่อรูปแบบการทำงานเดิมๆ การประชุมที่ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากันจริงๆ ชั่วโมงการทำงานที่ไม่อาจมีใครมานั่งนับได้ ไปจนถึงความจำเป็นของออฟฟิศในอนาคต เมื่อหลายๆ ตำแหน่ง เนื้องานเอื้ออำนวยให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาเจอหน้ากันทุกวันอย่างเคย หรือเจอกันผ่านหน้าจออย่างในตอนที่ทุกคนต้องทำงานที่บ้านด้วยความจำเป็น
หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รูปแบบการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละบริษัท Flexible Work Schedule, Remote Work, Hybrid Office รูปแบบเหล่านี้ถูกนำมาพิจารณาในการทำงานมากขึ้น ผลสำรวจจาก FlexJobs บอกว่า กว่า 77% ของคนทำงาน เลือกที่จะอยู่ต่อ หากพวกเขาได้ทำงานในเวลาที่ยืดหยุ่น 86% บอกว่าพวกเขาเครียดน้อยลง และอีก 21% บอกว่า ยอมสละวันลางานเลยก็ได้ นั่นเท่ากับว่า การทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งเวลาและสถานที่ในช่วงที่ทำงานจากที่บ้าน ค่อนข้างมีเสียงตอบรับที่ดีจากคนทำงาน เมื่อต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวันอีกครั้ง หลายคนจึงรู้สึกถึงความไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทาง ฝ่าสภาพการจราจรในตอนเช้าและเย็น หมดเวลาทั้งวันไปกับการทำงาน เมื่อที่ผ่านมาเราสามารถทำงานจากที่บ้านได้
about:blank
เมื่อรูปแบบการทำงานจำต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแสของโลกใบนี้ การมานั่งเจอหน้ากันในออฟฟิศทุกวันจึงไม่ใช่ทางเลือกอันดับแรกอีกต่อไป มาดูกันว่าการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา หลังจากการเปลี่ยนแปลงของการทำงาน มีรูปแบบใดบ้าง แบบไหนเวิร์ก แบบไหนเหมาะกับเรา ลองพิจารณาแล้วนำไปปรับใช้กับออฟฟิศของเรากันดู
ทำงานแบบ ‘3-2-2’
ออฟฟิศ 3 บ้าน 2 หยุด 2 คอนเซ็ปต์ง่ายๆ ของรูปแบบนี้ ถูกนำเสนอโดย ลอเรน ฮาว (Lauren C. Howe) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก University of Zurich แอชลีย์ วิลเลียนส์ (Ashley Whillans) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Harvard Business School พวกเขามองว่าพอคนได้เริ่มทำงานที่บ้าน จะยิ่งชื่นชอบการทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมากขึ้นอีกในอนาคต ในขณะที่บริษัทเองก็ยังคงต้องการการทำงานแบบห้าวันตามปกติอยู่ ดังนั้น วิธีนี้ จะช่วยให้ทั้งคู่ได้รับในสิ่งที่ตนเองต้องการ
ความยืดหยุ่น ถือเป็นหัวใจหลักสำหรับการทำงานแบบ 3-2-2 ที่พนักงานสามารถเลือกวันเข้าออฟฟิศของพวกเขาได้ เช่นเดียวกับที่เลือกได้ว่าจะทำงานที่บ้านวันไหน โดยบริษัทเองก็ยังได้การทำงานที่ครบห้าวันอยู่ดี และความยืดหยุ่นนี้ จะช่วยให้พนักงานไม่อิดออดเมื่อต้องเข้ามายังออฟฟิศ เพราะนั่นคือวันที่เขาเลือกเอง โดยรูปแบบนี้อาจมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท ยิ่งจำนวนคนมาก อาจยิ่งต้องกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหม่ เราคุ้นเคยกับคำนี้มานานและเห็นบางบริษัทที่ใช้นโยบายนี้อยู่บ้าง แต่นั่นคือช่วงก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อโลกการทำงานสั่นคลอน การทำงานที่บ้านกลายมาเป็นนโนบายขวัญในชาวออฟฟิศ ที่ได้เปลี่ยนบรรยากาศให้ตนเอง ผลการสำรวจจาก FlexJobs บอกว่า พนักงานออฟฟิศกว่า 51% มีความโปรดักทีฟเมื่อได้ทำงานที่บ้านมากกว่าที่ออฟฟิศ มากเสียจนสามารถเคลียร์งานให้สำเร็จลุล่วงได้โดยไม่ต้องรอครบวันทำงานห้าวัน
โดยบริษัท Unilever ในประเทศนิวซีแลนด์ได้เริ่มใช้นโยบายนี้ไปเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 โดยให้พนักงานทำงานแค่ 80% ของชั่วโมงการทำงาน แต่พวกเขายังได้เงินเดือน 100% และการประเมินงานผ่าน KPIs แบบ 100% เช่นกัน นิก แบงก์ (Nick Bangs) ผู้จัดการทั่วไปของ Unilever ประเทศนิวซีแลนด์ เหตุผลที่เลือกใช้นโยบายนี้ เพราะต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่อย่าง ‘The new productivity mindset’ ที่สนับสนุนให้พนักงานทำงานได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งสองรูปแบบนี้มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้ อาจจะเป็นบริษัทข้างเคียงหรือแม้แต่บริษัทของเราเอง อะไรจะดีกว่าหรือดีที่สุด แน่นอนว่ายังไม่มีคำตอบสำหรับตอนนี้ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปแล้ว และเราไม่อาจยึดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไปตลอดได้เช่นกัน