หลายคนรู้ดีว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนโลกของการทำงานไปขนาดไหน แต่เมื่อมันกำลังจางหายไปจากทั่วโลก หลายประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ ใกล้เคียงกับชีวิตก่อนหน้าการแพร่ระบาด แน่นอนว่า การเข้าออฟฟิศก็กลับมาอีกครั้ง แต่ทว่า การกลับมาทำงานแบบเข้าออฟฟิศอีกครั้งนี้ ทำให้หลายคนเกิดคำถามและมุมมองต่องานที่กำลังทำอยู่ ว่าเรายังเหมาะกับสิ่งนี้อยู่ไหม? หากต้องกลับเข้าไปออฟฟิศอีกครั้ง เราจะพอใจกับมันหรือเปล่า? จนทั่วโลกเกิดการลาออกครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อผู้คนเกิดเปลี่ยนใจจากงานที่ทำอยู่ เมื่อต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง

     ผลสำรวจจาก linkedin พบว่าคนทำงานกว่า 41% กำลังคิดเรื่องลาออก สอดคล้องกับผลสำรวจผู้คนกว่าสามหมื่นคนจาก Microsoft กว่า 41% ก็กำลังพิจารณาเรื่องลาออกหรือเปลี่ยนงาน และ 38% บอกว่ากำลังจะลาออกไวๆ นี้ด้วย เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทั้งที่สถานการณ์ดีขึ้นจนสามารถกลับไปทำงานในออฟฟิศ อีกหนึ่งกิจกรรมในการใช้ชีวิตรูปแบบเดิมได้แล้วแท้ๆ ผู้คนกลับทยอยลาออก จนเกิดปรากฎการณ์การลาออกครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้น

     เหตุผลแรกคงหนีไม่พ้น การปฏิบัติต่อพนักงานในช่วงทำงานที่บ้าน ต่างองค์กร ต่างนโยบาย หลายคนคงเจอมาตราต่างๆ ในออฟฟิศที่ออกมาเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ต้องย้ายไปที่บ้าน ทั้งเวลาเข้าออกงาน การประชุมออนไลน์ ไปจนถึงตารางงานยิบย่อยต่างๆ แต่นั่นก็เป็นปกติสำหรับการทำงาน แม้ในช่วงเวลาที่นั่งในออฟฟิศ เราก็ยังมีข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้อยู่ดี แต่สิ่งที่โผล่มาแล้วกลายเป็นปัญหาใหญ่ คือ ความไม่เชื่อใจในตัวพนักงาน

 เราเลยได้เห็นหลายองค์กร ให้พนักงานหาวิธียืนยันตัวตนในเวลาทำงานอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่การเปิดกล้องให้เห็นหน้า คอยตอบหรือรายงานตัวทุกๆ ชั่วโมง ส่งโลเคชั่นยืนยันว่าไม่ได้แอบออกไปไหนระหว่างวัน จนกลายเป็นสร้างความอึดอัดมากกว่าสร้างความเชื่อใจกัน แล้วความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนี้ ดึงเอาปัญหาอื่นๆ ตามมาด้วย บางองค์กรเริ่มมีตารางงานที่หนักขึ้น เมื่อรู้ว่าพนักงานไม่ต้องใช้เวลาเดินทางไปและกลับ จนกลายเป็นความเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้นจากนโยบายขององค์กรเอง

     แต่ถ้าหากองค์กรไหนมี empathy ต่อกัน การปฏิบัติต่อพนักงานก็จะออกมาในอีกรูปแบบไปเลย มีทั้งการปรับตารางงานให้เหมาะสมกับช่วงเวลา เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน ในช่วงที่พนักงานยังปรับตัวไม่ได้ มีสวัสดิการพิเศษคอยดูแลสุขภาพจิตใจ มีการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ที่ทำให้เราเห็นความแตกต่างของการปฏิบัติต่อพนักงานที่สะท้อนได้เลยว่า องค์กรมีมุมมองต่อพนักงานของตัวเองอย่างไร

     เมื่อตัวพนักงานรู้แล้วว่าองค์กรที่ตัวเองอยู่ มีวิธีรับมืออย่างไรในช่วงวิกฤต เห็นมุมมองขององค์กรที่มีต่อพนักงานผ่านนโยบายในช่วงทำงานที่บ้านแล้ว นั่นอาจส่งผลให้พนักงานเริ่มตัดสินใจว่า จริงๆ แล้วที่นี่เหมาะหรือไม่เเหมาะกับเรากันแน่ เพราะมุมมองของผู้คนที่มีต่องานเปลี่ยนไป หลังจากการปรับตัวครั้งใหญ่ในการแพร่ระบาดครั้งแรกแล้ว เราได้เห็นอะไรที่ต่างออกไป อะไรที่ไม่คิดว่าจะไม่เห็นก็ได้เห็น จนทำให้มุมมองของการทำงานที่มีอยู่เปลี่ยนไป บางคนเห็นแล้วว่างานที่เราเคยพากเพียรเข้าออฟฟิศทุกวันนั้น ไม่จำเป็นต้องเข้าไปนั่งให้เห็นหน้ากันทุกวันก็ได้ การประชุมที่เคยยืดเยื้อยาวนาน ถูกตัดจบลงเพราะต่างคนต่างต้องใช้เวลาทำงานให้มากที่สุด 

     เมื่อเป็นการนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน นั่นหมายความว่างานนั้นส่งผลกระทบกับชีวิตส่วนตัวที่บ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากเคยได้นั่งทำงานไป มองสวนมุมโปรดที่บ้านไป ก็คงไม่อยากจากมุมอันผ่อนคลายนี้เมื่อต้องเข้าออฟฟิศอีกครั้ง บางคนได้ตารางงานแสนยืดหยุ่น มีเวลาใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง จนรู้สึกว่าความสมดุลของงานและชีวิตกลับมาอีกครั้ง แต่กำลังจะถูกพรากไปหากต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ

     ในระยะเวลาที่ได้ทบทวนมุมมองต่อการทำงานนี้ หลายคนมองหางานที่ให้เงินดีขึ้น ให้ความสุขมากขึ้น หรือเพิ่มความยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่โลกพลิกจากหน้ามือ งานจึงไม่ถูกตีความว่าต้องเป็นหน้าตาในสังคม เป็นการปูทาง เป็นการไต่เต้า อีกต่อไป รวมถึงหลายอาชีพที่ไม่ได้ไปต่อ หรือได้รับความนิยมลดลงเป็นอย่างมากหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้คนที่ทำอาชีพนี้อยู่เดิม ต้องมองหาอาชีพใหม่ให้กับตัวเองด้วย

     เมื่อเคยได้มีชีวิตในการกำกับของเราทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน ทั้งงานและชีวิตส่วนตัวแล้ว เรารู้แล้วว่าเราควรเทน้ำหนักไปที่อะไร รับมือกับนโยบายของออฟฟิศให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตอย่างไร หากเราพอใจกับชีวิตตรงนั้นแล้ว วันหนึ่งต้องกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศดังเดิม และนโยบายทำงานที่บ้านไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป เท่ากับว่าเราต้องโบกมือลาชีวิตที่อุตส่าห์ปรับตัวได้ในตอนนั้นเสียแล้ว ทางแก้ของเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นการลาออกเพื่อหางานใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเรามากกว่า

ที่มา: SOURCE 1 / SOURCE 2 / SOURCE 3

Add Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *