ถ้าถามขาสเต๊กหลายคนก่อนหน้านี้ สิ่งที่บ่งบอกถึงคุณภาพเนื้อสำหรับพวกเขาอาจเป็นข้อบ่งชี้เรื่องมาตรฐานความเป็นออร์แกนิก หรือพืชที่ใช้เป็นอาหารของวัว แต่ที่มยุรา (Mayura) ฟาร์มวัวที่ตั้งอยู่ ณ ชายฝั่งทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ของหวานสุดโปรดของเราอย่างช็อกโกแลตได้กลายมาเป็นอาหารของเจ้าวัวเนื้อคุณภาพดีของที่นั่นด้วย
ไอเดียบรรเจิดในการเริ่มให้อาหารเจ้าวัวด้วยช็อกโกแลตเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เมื่อหนึ่งในเจ้าของฟาร์มวัวอย่างมยุรา สเตชั่น (Mayura Station) อยากฉีกแนวด้วยการผลิตเนื้อวัวที่มีเอกลักษณ์แยกออกจากเนื้อวัวอื่นๆ ในประเทศ ที่ต่างแก่งแย่งกันโด่งดังเพื่อที่จะตามมาด้วยยอดส่งออกไปขายในต่างประเทศ แม้ว่าฟาร์มแห่งนี้จะพิเศษกว่าใคร กับการนำวัวสายพันธุ์วากิวเลือดแท้จากญี่ปุ่นมาเลี้ยงในออสเตรเลียเป็นเจ้าแรก แต่พวกเขาก็ยังไม่หยุดยั้ง ด้วยการหันหน้าเข้าหานักโภชนาการชาวญี่ปุ่นเพื่อพัฒนารสชาติของเนื้อวัวที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 2 ปี จนได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
ในช่วงเวลา 2 ปีก่อนจะได้ผลลัพธ์เป็นเจ้าเนื้อช็อกโกแลต ต้องมีการทดสอบรสชาติถึง 24 ครั้ง กว่าจะสรุปสัดส่วนและปริมาณของช็อกโกแลตที่จะให้เจ้าวัวกินได้ หลายคนที่มีจิตใจเมตตาต่อสัตว์อาจคิดตามว่าต้องมีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตกี่ครั้งกัน แต่เดี๋ยวก่อน คุณเข้ามาอ่านเพราะหัวเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกินเนื้อวัวหรือเปล่า?
ข้อสรุปที่ได้ก็คือวัวหนึ่งตัวกินช็อกโกแลตยี่ห้อแคดเบอรี (Cadbury) รสนมที่นำมาบดเป็นผงเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม ต่อวัน ทางฟาร์มยังไม่ได้เปิดเผยเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมถึงเลือกเจาะจงช็อกโกแลตยี่ห้อนี้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ให้เจ้าวัวกินแต่ช็อกโกแลตเปล่าๆ บางครั้งก็ผสมขนมกัมมีแบร์และสตรอว์เบอร์รีเข้าไปด้วย เพื่อไม่ให้พวกมันเบื่อ
เห็นได้ชัดว่าความพยายามที่ออกจะแหวกแนวนี้ส่งผลดีแค่ไหน เพียงไม่นานมยุราก็กลายเป็นฟาร์มเอกชนที่เลี้ยงวัวสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย บรรดาเชฟจากร้านดังโดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ในเอเชียต่างแห่กันมาสั่งเนื้อวัวจากฟาร์มแห่งนี้เพื่อมาปรุงเสิร์ฟเป็นจานอร่อยในร้านของพวกเขา
อุมแบร์โต บอมบานา (Umberto Bombana) เจ้าของร้านดีกรีมิชลินที่คิวยาวเหยียดที่สุดร้านหนึ่งในฮ่องกง ถึงกับโพสต์บนเฟซบุ๊กของเขาเองว่าลูกค้าบางคนมากินสเต๊กเนื้อชนิดนี้ถึง 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เพราะถูกใจในสมดุลของไขมัน กลิ่นหอม และเท็กซ์เจอร์นุ่มๆ ของมัน
แต่ถ้าหากถามเราในฐานะผู้เขียนเรื่องอาหารคนหนึ่งที่เพิ่งจะได้ลิ้มลองรสชาติของเนื้อชนิดนี้มาไม่นานนัก เราถูกใจ ‘ความหลากหลาย’ ในมิติการปรุงที่เนื้อชนิดนี้สามารถเป็นจานอร่อยให้เราได้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือเนื้อวากิวอื่นๆ ที่เป็นสายพันธุ์กำเนิดในญี่ปุ่นมักจะเหมาะกับการปิ้งย่างแบบยากินิคุมากกว่าการนำมาทำเป็นสเต๊กชิ้นใหญ่ ทว่ามยุราส่วนสตริปลอยน์และริบอายนั้นอร่อยด้วยการปรุงแบบสเต๊กอย่างทางตะวันตก ไม่ใช่แบบที่เฉือนเนื้อเป็นแผ่นมาย่างบนถ่านไฟ การกินผ่านรูปแบบสเต๊กจะยิ่งดึงเอากลิ่นและรสมันแบบไม่เลี่ยนของเนื้อชนิดนี้ออกมาได้มากขึ้นอีกเท่าตัวเลยทีเดียว
แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/lifestyle/article/stage-menu70-fine-dining