คนพูดถึง ‘อุปกรณ์อัจฉริยะ’ มาสักพักใหญ่แล้ว แต่อะไรคือสิ่งที่คนเราต้องการจริงๆ กันแน่ เพราะทุกวันนี้เวลาพูดถึงอุปกรณ์อัจฉริยะ เราจะนึกถึงอุปกรณ์ที่ต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ และสามารถควบคุมมันได้ผ่านสมาร์ตโฟนเท่านั้น ซึ่งนี่ดูจะไม่ ‘อัจฉริยะ’ สมชื่อ
แล้วอะไรถึงจะ ‘อัจฉริยะ’? เอาง่ายๆ ก็น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่คิดเองได้อย่างซับซ้อนในแบบที่ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นจริงๆ เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดที่ไม่ใช่แค่วิ่งโง่ๆ วนๆ บนพื้นเรียบ แต่สามารถทำความสะอาดพื้นที่สม่ำเสมอเองได้และสามารถทิ้งฝุ่นเองได้ เราไม่ต้องมานั่งทำความสะอาดมัน หรือตู้เย็นที่ฉลาดพอที่จะเตือนเราว่าอะไรในตู้เย็นหมดไปแล้ว และเราต้องการจะสั่งออนไลน์เพิ่มไหม หรือจะเป็นรถยนต์ที่ขับไปสู่จุดหมายโดยสวัสดิภาพพร้อมจอดเองได้
สิ่งเหล่านี้จริงๆ เริ่มพัฒนามาแล้วหลายปี ตั้งแต่คนยังคงเห่อคำว่า Internet of Things แต่ยังไม่แพร่หลาย คำถามหลักๆ คือทำไม?
คำตอบเร็วๆ คือเพราะ ‘เทคโนโลยีพื้นฐาน’ เรายังไม่พร้อม และมีสองเรื่องหลักๆ หนึ่งคือความเร็วอินเทอร์เน็ต สองคือข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์
อย่างแรกความเร็วอินเทอร์เน็ต เอาจริงๆ ยุค 5G นี่เราโหลดอะไรได้แค่พริบตาก็จริง แต่อีกด้านก็ยังไม่เร็วพอสำหรับอุปกรณ์อัจฉริยะ ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ในยุคนี้ ถ้าเราจะถามตู้เย็นว่ามีอะไรอยู่ในตู้เย็นบ้าง เทคโนโลยีที่ต้องมีอย่างน้อยคือกล้องและ AI ประมวลผล ทีนี้ถ้าเราจะใส่ AI ประมวลผลไปที่ตู้เย็นเลย คงจะเปลืองต้นทุนมากๆ โดยทั่วไปเขาเลยนิยมออกแบบให้กล้องวิดีโอไปประมวลผลที่เซิร์ฟเวอร์กลาง
ปัญหาที่ตามมาก็คือรูปที่ใช้ต้องเป็นรูปความละเอียดสูงจำนวนมาก และต้องส่งทันทีเพื่อให้เกิดการประมวลผลชั่วพริบตา (เพราะเราคงไม่ต้องการรอ 5-10 นาที) หรือพูดง่ายๆ ตู้เย็นเราไม่มีทางจะฉลาดพอที่จะรู้ว่ามีอะไรอยู่ในตู้ มันเลยต้องส่งข้อมูลไปประมวลผลในระยะไกล ปัญหาคือแม้ว่า AI จะพัฒนาเร็วมาก แต่อินเทอร์เน็ตยังไม่เร็วขนาดนั้น
ซึ่งต้องเข้าใจอีกว่าเวลาเราพูดถึงการประมวลผลระยะไกลที่แม่นยำ จริงๆ ไม่ใช่แค่ข้อมูลแบบวิดีโอหรือภาพเคลื่อนไหวสองมิติเท่านั้น ให้ชัวร์คือภาพเคลื่อนไหวแบบสามมิติ ซึ่งในทางเทคโนโลยีทำได้แน่นอน แต่ขนาดข้อมูลใหญ่มาก ในระดับที่เรามีแค่ 5G มันไม่มีทางส่งข้อมูลไซซ์ขนาดนั้นไปประมวลผลระยะไกลได้แน่ๆ ต้องรอ 6G ก่อน
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่ประมวลผล ณ ตรงนั้นเลย คือเอาคอมพิวเตอร์ไปใส่ที่อุปกรณ์เลย จะได้ไม่ต้องรอ 6G ส่งข้อมูลไปประมวลไกลๆ ประเด็นนี้นำมาสู่ปัญหาต่อมาคือเรื่องฮาร์ดแวร์
ปัจจุบันเรายังไม่มีฮาร์ดแวร์ราคาถูกที่มีความสามารถในการประมวลผลแบบ AI เท่าไร ซึ่งวิธีแก้ในทางเทคนิคที่เขาเสนอกันคือต้องพยายามพัฒนาอัลกอริธึมให้เรียบง่ายขึ้น มันจะได้ทำงานกับฮาร์ดแวร์สเปกต่ำได้ หรือพูดง่ายๆ ความท้าทายของนักพัฒนา AI จริงๆ ไม่ใช่เขียนอัลกอริธึมให้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทำงานคิดอะไรที่ลึกล้ำ แต่เป็นการเขียนอัลกอริธึมโง่ๆ ที่คอมพิวเตอร์บ้านๆ นำมาใช้ประมวลผลในชีวิตประจำวัน
ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามนุษย์เรียกร้องเยอะ คือต้องการอุปกรณ์ที่ฉลาดมากไม่พอ แถมยังต้องมีขนาดเล็กด้วย ก็เลยนำไปสู่การพัฒนาชิปแบบใหม่ที่ทั้งเล็กและมีการประมวลผลได้สูง และถ้านึกไม่ออก ให้นึกถึงยุคของการสร้างสมาร์ตโฟนที่ต้องรอให้มีชิปของ ARM ที่ประมวลผลได้มากและใช้ไฟฟ้าน้อยเกิดมาก่อนถึงจะเป็นไปได้ และนี่คือหลักการเดียวกันกับการใส่ AI ไปในสิ่งต่างๆ เพียงแต่เทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ทั้งการประมวลผล AI ได้สูง มีขนาดเล็ก และกินไฟน้อย มันยังไม่เกิด
กล่าวง่ายๆ โดยสรุป เอาจริงๆ แล้วโลกนี้ยังอีกไกลจากยุคที่เราจะอยู่ท่ามกลางอุปกรณ์ไฮเทคแบบในหนังไซ-ไฟ เพราะถึงเราจะมีอัลกอริธึมพร้อมแล้ว แต่ก็ต้องรอให้อินเทอร์เน็ตเร็วกว่านี้ หรือให้เรามีชิปแบบใหม่ที่ประมวลผล AI ได้ พร้อมทั้งมีขนาดเล็กและกินไฟต่ำ
เพราะถ้าไม่ไปกันถึงแบบนี้ ไอ้ความ ‘อัจฉริยะ’ ที่พูดกัน ก็แค่ให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และควบคุมได้ผ่านโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ ไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไรเลย
- July 22, 2022
- 51
- 0
- Lifestyle