ไบรอนา กู้ดแมน (Briana Goodman) เปลี่ยนสถานะเป็นคุณแม่มือใหม่เมื่อปี 2015 เธออาศัยอยู่ในเมืองบัลติมอร์ โดยต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย ซึ่งไม่รู้เลยว่าในแต่ละวันนั้นต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากขนาดไหน (พ่อแม่ทุกคนน่าจะทราบดี) เพื่อนและครอบครัวช่วยกันให้คำแนะนำวิธีการเลี้ยงดูลูกของเธอให้ดีที่สุด แต่ทุกคนก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป

     อย่างครั้งหนึ่งเธอเล่าให้คนรอบข้างฟังถึงวิธีการฝึกให้ลูกนอนหลับด้วยตัวเอง ให้ร้องไห้แล้วก็หลับไป (Self-Soothing) บางคนก็บอกว่าโอเค บางคนก็คัดค้านหัวชนฝา นอกจากงานที่เครียดแล้วยังต้องมาปวดหัวกับคำแนะนำเหล่านี้อีก จนกระทั่งเธอไปเจอกลุ่มเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่บรรดาแม่ๆ มาแชร์ประสบการณ์และวิธีการเลี้ยงลูก

     สิ่งนี้ทำให้เธอกลับมาสงบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้อ่านและแชร์เรื่องราวของเธอ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตัดสินจากเพื่อนๆ หรือครอบครัวที่เธอใกล้ชิดด้วย เธอบอกว่า “มันเป็นส่วนใหญ่ของชีวิตฉันเลยก็ว่าได้ ทำให้ฉันอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น เปลี่ยนชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น และมันก็ดีมากๆ ที่มีแม่คนอื่นๆ อยู่ในนั้นด้วย” ภายหลังเธอกลายมาเป็นแอดมินของกลุ่ม คอยให้คำแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เข้ามา ยื่นมือไปช่วยแบ่งเบาความเครียดที่เธอเข้าใจเป็นอย่างดีจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

     แน่นอนว่าสำหรับคนที่เล่นเฟซบุ๊ก จะทราบดีว่ามันเป็นพื้นที่สีเทาที่เต็มไปด้วยคำถาม ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงข้อมูล ข้อมูลที่หลุดออกไปข้างนอก โฆษณาต่างๆ หรือปัญหาข่าวปลอมที่ไม่มีวันจบสิ้น คนที่ใช้งานจะรู้สึกว่ามันเหมือนไม่มีทางเลือก เราอยู่ตรงนี้กันอยู่ ใช้มันทุกวัน แม้จะไม่ได้ดีสักเท่าไร แต่ก็ไปไหนไม่ได้อยู่ดี เพื่อนส่วนใหญ่ก็ยังใช้งานกันอยู่ กลุ่มที่เราเป็นสมาชิกล้วนมอบประสบการณ์ที่เชื่อมต่อเรากับคนที่มีแนวทางและความคิด ความสนใจคล้ายคลึงกันได้เป็นอย่างดี

จากรายงานของ เฟซบุ๊ก บอกว่าพวกเขาได้เชื่อมคนกว่า 1,800 ล้านคนเข้าด้วยกันในกลุ่มทุกๆ เดือน ซึ่งจุดเด่นของ เฟซบุ๊ก Group คือ ช่วยทำให้เราอยู่ในกลุ่มที่สนใจจริงๆ เป็น ‘สังคมขนาดย่อม’ ที่หาไม่ได้จากที่อื่น อย่างเช่น กลุ่ม ‘subtle asian traits’ ที่มีสมาชิกกว่า  2 ล้านคนที่คุยกันถึงเรื่องราวเอเชียต่างๆ หรือกลุ่มตลกๆ อย่าง ‘Disapproving Corgis’ ที่เต็มไปด้วยภาพมีมน้องหมา หรือกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องสีผิวอย่างสร้างสรรค์ ‘White People. DOING Something’ หรืออย่างบ้านเราก็อาจจะเห็นกลุ่ม ‘จัดโต๊ะคอม’ ที่พูดคุยกันถึงเรื่องอุปกรณ์การจัดโต๊ะทำงานที่สวยงาม และ ‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’ ที่พูดคุย/แนะนำวิธีการย้ายไปทำงานหรือไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยเลย

     กลุ่มเหล่านี้ช่วยเชื่อมคนที่มีความชอบความสนใจเข้ามาอยู่ด้วยกัน บางคนอยู่ในกลุ่มที่ต้องการคำพูดสนับสนุน คำแนะนำ และวิธีการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่าง ‘queer farmers’ พื้นที่ให้กำลังใจกันของคนที่เป็นเพศทางเลือกที่ทำอาชีพเกษตกร ซึ่งหลายๆ คนที่อยู่ในนั้นก็บอกว่ามันเป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก เพราะกำลังใจเหล่านี้เหมือนช่วยเยียวยาและทำให้พวกเขาแรงสู้ต่อไปในแต่ละวัน

     คนเหล่านี้ทราบดีว่าตัวแพลตฟอร์มเองไม่ได้ขาวสะอาด แต่มันเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของสังคมเล็กๆ ที่มีคุณค่า แถมสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงด้วยเพราะทางเลือกอื่นไม่ได้มีผู้ใช้งานที่หลากหลายขนาดนี้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่จะมองข้ามด้านสีเทาของ เฟซบุ๊ก ไปเลย

     มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งจาก New York University’s Governance Lab ที่สนับสนุนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน บอกว่าสมาชิกของกลุ่มใน เฟซบุ๊ก นั้นเห็นความสำคัญของการเข้าถึงสังคมและคนที่มีเป้าหมายเดียวกันมากกว่าความเป็นส่วนตัว ซึ่งแตกต่างจากการใช้แพลตฟอร์มในรูปแบบอื่น (เช่นการโพสต์ภาพหรือแชร์สเตตัส) มันเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเสรีภาพในจักรวาลของ เฟซบุ๊ก ที่ไร้เสรีภาพ

     เฟซบุ๊ก เปิดตัวฟีเจอร์นี้ในปี 2010 แต่ไม่ได้หันมาโฟกัสอย่างจริงจังจนกระทั่งปี 2016 หลังจากที่โดนโจมตีเรื่องการปล่อยให้ข่าวปลอมถูกเผยแพร่บนแพลตฟอร์มจนเป็นสาเหตุให้การเลือกตั้งในปีนั้นบิดเบือน เฟซบุ๊ก จึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการมีส่วนร่วมมากขึ้น บอกว่าจะโพกัสไปที่สังคมของคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน ซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างมากเพราะคนเหล่านี้จะคอนคัดสรรค์ข้อมูลที่แชร์มาในกลุ่ม คนที่เห็นอะไรที่ชอบมาพากลก็จะบอกกันว่าข้อมูลตรงไหนที่น่าจะผิดเพี้ยน เรื่องที่น่าสนใจก็จะเอามาแชร์ ไม่มีการโฆษณา (ยกเว้นเป็นกลุ่มขายของ) และ เฟซบุ๊ก เองก็จะสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามาเติมในปีนี้อย่าง ​Subgroups ที่จะยิ่งทำให้โฟกัสเจาะลึกเข้าไปได้อีก (เช่นกลุ่มคนรักอาหารญี่ปุ่น และมีกลุ่มย่อยเป็น ‘Tempura’ ‘Sushi’ หรือ ‘Udon’ อะไรประมาณนั้น)

     การที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก ออกมาบอกว่าจะสร้างสังคมที่มี ‘คุณค่า’ นั้นอาจจะฟังดูเป็นอะไรที่ว่างเปล่าไร้จุดหมาย แต่สำหรับใครก็ตามที่มีปัญหาที่ไม่รู้ว่าควรไปพึ่งพาที่ไหน กลุ่มบน เฟซบุ๊ก อาจจะเป็นเพียงความหวังเดียวที่เหลืออยู่ของพวกเขาเลยก็ได้

     เคลลี ลาวอย (Kelly Lavoie) คุณแม่ของลูกสาววัยเจ็ดเดือนที่ป่วยด้วยโรคที่เรียกว่า “infantile spasms” หรืออาการลมชักในเด็ก ซึ่งมีโอกาสสร้างความเสียหายขั้นรุนแรงให้กับสมองของเด็กได้ หลังจากที่ได้รับข่าวจากคุณหมอ เธอไม่รู้จะต้องรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร จึงเสิร์ช กูเกิล (Google) หาข้อมูลเพิ่มเติม เธอบอกว่า “หลังจากอ่านข้อมูลในกูเกิล ก็ยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก ข้อมูลบอกว่าเด็กๆ เหล่านี้จะไม่มีชีวิตสมบูรณ์ บางคนเสียชีวิต บางคนสภาวะเหมือนย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งแล้วไม่เติบโตอีกเลย” เธอรู้สึกหดหู่มากจนกระทั่งมาเจอกับกลุ่ม “Infantile Spasms” ที่ช่วยบรรเทาความเครียดของเธอลงได้

     ในกลุ่มนั้นเธอได้พบกับครอบครัวที่มีลูกที่อาการเหมือนกัน ได้เจอผู้เชี่ยวชาญและคุณพ่อคุณแม่ที่เคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกับที่เธอเป็นอยู่ตอนนี้มาแล้ว กลุ่มได้อ้าแขนต้อนรับให้เธอเข้ามาอยู่ด้วยและช่วยให้คำแนะนำที่มีคุณค่ามากมาย ทุกคนต่างเห็นอกเห็นใจและมันช่วยให้เธอผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ แต่ด้วยสายอาชีพที่เธอเป็นคือโปรแกรมเมอร์ สิ่งหนึ่งที่อยู่ในหัวเสมอระหว่างที่เธอแชร์เรื่องราวส่วนตัวในกลุ่มคือเรื่องของข้อมูลที่เธอได้แชร์ในนั้น “ในฐานะโปรแกรมเมอร์ มันน่ากังวลเหมือนกัน ฉันรู้ว่ามันเลวร้ายมากแค่ไหนถ้ามีคนเอาข้อมูลไปได้ และแน่นอนว่าฉันก็สะดุดกับความคิดนั้นเช่นกัน แต่ฉันก็มีลูกที่ป่วยเช่นเดียวกัน” เธอรู้ว่าต้องระวังตัวแต่การจะออกมาจากกลุ่มก็ทำไม่ได้เช่นกัน คนที่อยู่ในกลุ่มนี้แม้ลูกๆ จะหายดีแล้วก็ยังอยู่รวมกันอยู่เป็นสังคมที่เหนียวแน่นเพื่อช่วยคนอื่นๆ ที่เข้ามา

     กลุ่มเหล่านี้เป็นศูนย์กลางการกระจายข่าวที่มีประสิทธิภาพด้วย อย่างช่วงที่ผ่านมาที่โควิดระบาด คนที่อยู่ในกลุ่มก็จะได้รับข่าวสารข้อมูลจากแอดมินที่ทำการคัดเลือกและตรวจสอบมาแล้วก่อนจะแชร์ (โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแอดมินที่มีความรับผิดชอบ) กลุ่มบางกลุ่มที่เป็นเรื่องของสุขภาพที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยอย่าง “Infantile Spasms” ก็ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ข้างนอก เฟซบุ๊ก มันเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยข้อมูลดีๆ และใครก็ตามที่กำลังประสบปัญหานี้จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

     ข่าวแย่ๆ เกี่ยวกับ เฟซบุ๊ก ยังไม่มีทางหมดไป แต่อย่างน้อยๆ Facebook Group ก็ยังเป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ช่วยทำให้เรากลับเข้ามาใช้งานแม้จะทราบดีว่ามันมีโอกาสที่วันหนึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/toys/article/facebook-groups-communities

Add Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *