แต่เดิม ‘กัญชา’ ถือเป็นพืชที่ประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็นสารเสพติดประเภท 5 ภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2522 ก่อนที่จะผลักดันปลดล็อกกัญชาเสรีให้ถูกกฎหมายเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์เป็นสำคัญ รวมทั้งอนุญาตให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ได้ นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป แม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ตื่นตัวเรื่องกัญชาถูกกฎหมาย แต่ประชาชนอีกจำนวนมากก็ยังคงเกิดความสับสนเกี่ยวกับขอบเขตของการใช้กัญชา ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงปัญหาและผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมา… ‘ปลดล็อกกัญชา’ ในครั้งนี้ ไทยพร้อมมากแค่ไหน

ทำความรู้จัก ‘กัญชา’ พืชยุคโบราณ ที่ให้มากกว่า ‘ความเคลิ้มสุข’

     สันนิษฐานว่า ‘กัญชา’ ในภาษาไทย เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจาก “Ganja” ในภาษาฮินดี โดยพืชชนิดนี้ขึ้นในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะพื้นที่แถบเปอร์เซีย อินเดีย และจีน นิยมเพาะปลูกในท้องถิ่นเพื่อใช้นำมาประกอบเป็นยา อาหาร เครื่องเทศ แหล่งของเส้นใย และพืชเสพติดมาช้านาน เพราะมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ผู้เสพรู้สึกเคลิบเคลิ้มและผ่อนคลาย ก่อนที่ต่อมาจะกระจายพันธุ์มายังหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     เมื่อสืบค้นราวเรื่องราวของกัญชา พบว่าปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียมาตั้งแต่สมัยโบราณ อาจมีความเป็นมายาวนานนับพันปี เกาหลีเคยค้นพบผ้าป่านโบราณที่ทำมาจากเส้นใยของกัญชา ซึ่งมีอายุราว 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช จีนค้นพบเครื่องปั้นดินเผาที่มีเส้นใยของกัญชา แม้แต่ในตำราโอสถพระนารายณ์สมัยกรุงศรีอยุธยาของไทย ก็มีการใช้กัญชาเป็นส่วนหนึ่งของยาสมุนไพรแก้อาการนอนไม่หลับ

 ไม่เพียงเท่านั้น ในบางวัฒนธรรมยังยกให้กัญชาเป็นหนึ่งในพืชศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเชื่อมโยงกับตำนานของเทพเจ้า โดยเฉพาะชาวฮินดูในประเทศอินเดียที่มีความเชื่อว่าการสูบกัญชาเปรียบเสมือนการบูชาเทพศิวะ ทำให้เห็นได้ว่ากัญชาไม่ได้เป็นพืชโบราณที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ด้านอาหาร ยา และการผ่อนคลาย แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในมิติทางความเชื่อและศาสนาด้วย แม้แต่ในโลกตะวันตกก็ยังมีภาพวาดใบกัญชาปรากฏอยู่บนภาพวาดหรือวัตถุโบราณที่มีอายุนับพันปี สะท้อนให้เห็นว่ากัญชาคือหนึ่งในพืชโบราณที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์มาช้านาน

     ก่อนที่ในเวลาต่อมามุมมองของยุคกลางและโลกสมัยใหม่ได้จัด ‘กัญชา’ ให้เป็นพืชเสพติดผิดกฎหมายที่ออกฤทธิ์ต่อประสาท เนื่องจากในช่อดอกกัญชามีสารที่เรียกว่า ‘Tetrahydrocannabinol’ หรือ THC ซึ่งทำให้คนเสพคลายความวิตกกังวลลง แต่หากเสพในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลเกิดอาการเคลิบเคลิ้มไปจนถึงมึนเมา จึงถูกจัดเป็นพืชสารเสพติดที่ต้องควบคุมนั่นเอง

ปลดล็อกกัญชาเสรี ‘ปลูก-ซื้อ-ขาย-เสพ’ คนไทยทำอะไรได้บ้าง?

     จากการผลักดันของอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข ส่งผลให้ ‘กัญชา-กัญชง’ ถูกประกาศให้เป็นพืชที่เว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยการปลดล็อกกัญชาเสรีให้ถูกกฎหมายในครั้งนี้ มีรายละเอียดสิ่งที่ทำได้-ห้ามทำ ดังต่อไปนี้

  • การปลูกกัญชาในครัวเรือนสามารถทำได้ ครอบครองกัญชาได้ไม่จำกัดจำนวน แนะนำว่าควรจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชันปลูกกัญ หรือเว็บไซต์ https://plookganja.fda.moph.go.th หรือสอบถามสายด่วนกัญชา-กัญชง โทร. 1556 กด 3
  • การปลูกเพื่อขายเชิงพาณิชย์ หรือนำไปแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • หากการครอบครองกัญชามีสารสกัดที่มีปริมาณสาร THC เกินกว่า 0.2% ซึ่งถือเป็นปริมาณที่เกินกว่าที่กฎหมายปลดล็อก โดยไม่มีใบอนุญาต หรือไม่มีใบสั่งแพทย์ จะถือว่ามีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย
  • การนำเข้าเมล็ดพันธุ์และส่วนของพืชกัญชา จะต้องยื่นขออนุญาตกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • การนำเข้าผลิตภัณฑ์กัญชา จะต้องยื่นขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • ประชาชนสามารถประกอบอาหารจากกัญชาในครัวเรือนได้
  • ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ แต่สามารถสูบกัญชาภายในบ้านได้
  • ห้ามจำหน่ายกัญชาให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะถือว่าผิดกฎหมาย
  • หลังสูบ เสพ หรือบริโภคกัญชา ไม่ควรขับรถยนต์ ใช้เครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงอันตราย เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์ให้การตัดสินใจช้าลง
  • สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรสูบ เสพ หรือบริโภคกัญชาโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้น้ำนมมีสาร THC ที่ส่งผลต่อพัฒนาการสมองของเด็ก

     ข้อควรระวังในการใช้กัญชา : สารสกัด THC ในกัญชา แม้ว่าจะฤทธิ์ทำให้ผู้เสพรู้สึกเมาเคลิ้มสุข แต่หากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นเกินไป ก็อาจนำไปสู่การเสพติดได้ ส่งผลข้างเคียงให้รู้สึกมึนเมา ใจสั่น ชีพจรเร็ว ใจสั่น ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นลมวูบหมดสติ ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ จึงควรศึกษารายละเอียดก่อนการใช้ และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ

ประโยชน์ของ ‘กัญชา-กัญชง’ ในทางการแพทย์

     ตระกูลพืชกัญชา-กัญชง จะมีสาร 2 ตัวที่มีปริมาณเข้มข้น ได้แก่  Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งพบมากในกัญชา และ Cannabidiol (CBD) พบมากในกัญชง ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล โดยมีผลกระตุ้นประสาทในด้านความรู้สึก จึงทำให้ได้รับความสนใจในวงการแพทย์ มีการศึกษาข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์จากกัญชา-กัญชง มาอย่างยาวนาน

     สำหรับในประเทศไทยมีการจัดตั้ง ‘คลินิกกัญชาทางการแพทย์’ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยประโยชน์ของพืชกัญชาเพื่อนำมาใช้ส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้ป่วยบางราย ปัจจุบันมีการใช้กัญชาเป็น ‘ยาเสริม’ เพื่อช่วยรักษาอาการต่างๆ ที่ยาแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้ หรือใช้แล้วยังไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ยกตัวอย่างในอาการต่อไปนี้

  • ใช้ลดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท
  • ใช้บรรเทาอาการคลื่นไส้ของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาคีโมบำบัด
  • ใช้เพิ่มความอยากอาการในผู้ป่วยโรคเอดส์ ที่มีน้ำหนักน้อย
  • ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้าย หรือระยะประคับประคอง
  • ใช้ลดอาการโรคลมชักดื้อยา
  • ใช้ลดอาการปวดประสาทประเภทต่างๆ

     หมายเหตุ : การใช้กัญชาทางการแพทย์ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากร่างกายของแต่ละคนมีความไวต่อการได้รับสารสกัด THC และ CBD ที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่การบริโภคกัญชาเป็นเครื่องดื่มและอาหาร ผู้มีโรคประจำตัวที่รับประทานยาเป็นประจำ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับสารสกัดจากกัญชา-กัญชงได้

‘ธุรกิจกัญชา’ ความหวังสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้เติบโต

     จากรายงานของเว็บไซต์ด้านการตลาด Allied Market Research ระบุว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ในปี 2561 มีมูลค่าทั่วโลกอยู่ที่ 427 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 2,632 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2569 โดยประเภทอาหารกัญชาที่เติบโตสูงสุด ได้แก่ เบเกอรี ช็อกโกแลต และลูกกวาด ตามลำดับ

     สำหรับประเทศไทยหลังการปลดล็อกกัญชาเสรี หลายฝ่ายมีหวังให้กัญชาเติบโตเป็น ‘พืชเศรษฐกิจ’ ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระบุว่า กัญชาเสรีจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไทย คาดว่าตลาดกัญชาเพื่อความเพลิดเพลินจะมีมูลค่าสูง 14,000 ล้านบาท ภายในปี 2568

     แน่นอนว่าหลังประกาศให้กัญชาถูกกฎหมาย ผู้ประกอบการหลายรายหันมาทำเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม โดยห้ามใช้ช่อดอกประกอบอาหาร เนื่องจากมีปริมาณสาร THC ในปริมาณสูง แต่สามารถใช้ทุกส่วนของต้น วัดตั้งแต่ช่อดอกลงมา 1 คืบ ผู้ประกอบการจะต้องติดฉลากบนหรือผลิตภัณฑ์ หรือทำป้ายระบุให้ชัดเจนว่า เป็นอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา

     ส่วนใครที่ทำผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม จะต้องขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีขั้นตอนการยื่นข้อมูลลักษณะอาหาร, วัตถุดิบ, กรรมวิธีการผลิต, ภาชนะบรรจุ, มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงฉลากอาหารที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งจะต้องระบุคำเตือนและข้อแนะนำการบริโภคให้ชัดเจน

‘ความรู้เรื่องกัญชา’ รอยต่อสำคัญหลังการปลดล็อกเสรี

     อย่างที่ทราบกันดีว่าหลังการปลดล็อกให้กัญชาถูกกฎหมาย หลายคนเริ่มตื่นตัวกับปรากฏการณ์กัญชาเสรีในแง่มุมต่างๆ แม้ว่าการปลดล็อกในครั้งนี้มาพร้อมความหวังที่จะพาประเทศไทยต่อยอดไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ทางการแพทย์ รวมถึงขยายอุตสาหกรรมผลิตยา เครื่องสำอาง อาหาร และเครื่องดื่มให้เติบโต พร้อมทั้งปูทางไปสู่การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจให้เกษตรกรในอนาคต

     แต่สิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ รอยต่อสำคัญที่เรียกว่า ‘ความรู้’ ก่อนที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายพืชเศรษฐกิจที่วาดฝันไว้ รัฐได้มอบชุดความรู้ที่เพียงพอและเข้าถึงได้ต่อประชาชนอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ หรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้กัญชาในด้านต่างๆ อย่างถูกต้อง

     นอกจากนี้ ก็ยังไม่มีมาตรการรองรับและการควบคุมที่ชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตอาหารและเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้อง ว่าควรจำกัดการใส่กัญชาในปริมาณเท่าไหร่ต่อแต่ละเมนู ทำให้เราเห็นข่าวคนเจ็บป่วย หรือได้รับผลกระทบจากการบริโภคกัญชามากมาย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

     ‘รอยต่อ’ หลังการปลดล็อกกัญชาเสรีในครั้งนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะมองข้ามได้อีกต่อไป แต่ถือเป็น ‘โจทย์ใหญ่’ ที่สังคมกำลังจับตามอง…

อ้างอิง: SOURCE 1 / SOURCE 2 / SOURCE 3 / SOURCE 4 / SOURCE 5 

Add Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *