เมื่อผมเริ่มสอนหนังสือเป็นครั้งแรก มีธรรมเนียมปฏิบัติหลายๆ อย่างที่ผมไม่รู้ ธรรมเนียมเด่นๆ เลยก็คือการคุกเข่า
วันหนึ่งมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งมาหาผมหลังเลิกเรียน ผมนั่งอยู่บนเก้าอี้ พอพวกเขาเข้ามา ทุกคนก็นั่งคุกเข่าลงบนพื้น
“ทำอะไรกัน” ผมถาม
พวกเขาดูตกใจ
“คุกเข่าทำไม” ผมถามอีก
พวกเขาดูงง
“ลุกขึ้น” ผมบอก
พวกเขามองหน้ากันเหมือนกับว่าไม่รู้จะทำอย่างไรดี
พวกเขาลุกขึ้น แต่ดูไม่ค่อยสบายใจเท่าไร ขณะที่ยืนอยู่ พวกเขาก็ค้อมตัวลง พยายามไม่ให้หัวของพวกเขาอยู่สูงกว่าผมซึ่งนั่งอยู่
นั่นแหละ… ทุกอย่างมันดูกระอักกระอ่วนไปหมด
ผมถอนหายใจแล้วบอกว่า “ไปลากเก้าอี้มานั่ง”
เท่านั้นแหละ แก้ปัญหาได้ เราเท่าเทียมกันแล้ว
เรื่องราวนี้ทำให้ผมนึกถึงตัวเองในปี 2553 ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมอภิปรายโดยองค์กรสำคัญแห่งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในปีนั้นก็ไปที่นั่นเพื่อกล่าวเปิดงานด้วย
ก่อนที่งานจะเริ่มขึ้น ทุกคนอยู่รวมกันในห้องวีไอพีเพื่อพบปะทักทายกัน ในห้องเต็มไปด้วยผู้ใหญ่วีไอพี และผม… หนุ่มสกินเฮดหน้าตาเหมือนคนเม็กซิกัน
ขณะที่พวกเรานั่งคุยกันอยู่ ประตูก็เปิดออก บริกรใส่ชุดราชปะแตนกับโจงกระเบนเดินเข้ามาเสิร์ฟเครื่องดื่มให้
บริกรทุกคนคุกเข่าลง บริกรคนหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดว่าอายุมากกว่าผม คุกเข่าลงเพื่อบริการผม ผมรู้สึกอึดอัดมากจนต้องกระเถิบลงจากโซฟาเพื่อรับเครื่องดื่ม ผมกระซิบกับเขาว่า “พี่ ไม่ต้องคุกเข่าก็ได้”
(อันที่จริงถ้าจะว่าไปแล้ว คนกลุ่มเดียวที่ผมสบายใจจะให้คุกเข่าตอนเสิร์ฟก็คือแอร์โฮสเตสสายการบินไทย)
ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องตลก (ร้าย) เพราะหัวข้อที่เราจะอภิปรายกันในวันนั้นเป็นเรื่องของ ‘ความไม่เท่าเทียม’
เมื่อรวมเรื่องราวทั้ง 2 เรื่องนี้เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นประเด็น การที่คุณคุกเข่าลงกราบไหว้พ่อแม่เพราะพวกเขาคือพ่อแม่ของคุณ สำหรับในวันไหว้ครู การคุกเข่าลงไหว้ครูเพราะพวกเขาเป็นครูของคุณ ฉะนั้นการทำสิ่งเหล่านี้ในโอกาสพิเศษเพื่อแสดงความเคารพผู้ใหญ่นั้นดีกว่า ธรรมเนียมประเพณีมันดี แต่ถ้าทำแบบนี้ทุกวี่ทุกวัน เหมือนเป็นกิจวัตรปกติ มันจะหมายความว่าอย่างไร
มันก็หมายความว่าเราอยู่ต่ำกว่า และทำให้ธรรมเนียมประเพณีกลายเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม คนเราถ้ายืนยืดอกด้วยความภาคภูมิใจนั้นเรียกว่าศักดิ์ศรี การลงไปคลานเข่าอาจเรียกได้ว่าเป็นขี้ข้า
ถ้าในสังคมมีคนกดให้คนบางกลุ่มอยู่ต่ำกว่า ก็จะไม่มีวันเกิดความเท่าเทียมกันในสังคม ความเท่าเทียมกันในสังคมไม่ใช่เรื่องฐานะทางการเงินที่เท่าเทียม ยังไงก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่ต้องมีคนรวยกับคนจน แต่สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพและความเท่าเทียม
วกกลับมาพูดถึงกลุ่มนักศึกษา ถ้าเราสงสัยว่าทำไมนักศึกษาส่วนใหญ่ถึงกลัวที่จะถามคำถาม เสนอความคิดเห็น และถกเถียงในประเด็นต่างๆ เพื่อที่จะสามารถสร้างความเป็นผู้นำ ผู้มีความคิดริเริ่ม และผู้ลงมือปฏิบัติ นี่แหละเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง เพราะว่านักเรียนนักศึกษาถูกตีกรอบโดยขนบธรรมเนียมประเพณีให้เป็นผู้น้อยและอยู่ต่ำกว่า
ผู้ที่อยู่ต่ำกว่าไม่ควรถกเถียงผู้ที่อยู่สูงกว่า ผู้ที่อยู่ต่ำกว่าไม่ควรมีความคิดเห็นของตัวเอง บทบาทของผู้ที่อยู่ต่ำกว่าคือการทำตามคำสั่ง
ดังนั้น ถ้าแรงงานไทยไม่เป็นที่หนึ่งในภูมิภาค (ไม่ต้องไปพูดถึงระดับโลก) นั่นก็เป็นเพราะระบบวัฒนธรรมทางการศึกษาซึ่งผลิตพวกเขามา ระบบที่ทำให้พวกเขายอมรับในการอยู่ต่ำกว่า เป็นระบบที่สอนพวกเขาให้ยอมรับในความไม่เท่าเทียม
ถ้าเราสงสัยว่าทำไมประชาธิปไตยถึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยนัก มันมีหลายเหตุผล แต่มั่นใจได้เลยว่านี่เป็นเหตุผลสำคัญ คือ ขณะที่ประชาธิปไตยเน้นเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคม แต่วัฒนธรรมไทยนั้นกลับสนับสนุนความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
อันที่จริง เราไม่จำเป็นต้องเป็นแบบฝรั่ง ผมอยู่ต่างประเทศมาเกิน 10 ปี เชื่อเถอะ เราไม่อยากเป็นแบบนั้นหรอก
แต่สิ่งที่เราเป็นได้และควรเป็นก็คือ ยืนหยัดอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา บริกร หรือใครก็ตาม ปฏิบัติตนต่อกันด้วยความเคารพและความเท่าเทียม พร้อมทั้งหยิบยื่นศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้อื่น
แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/views/article/what-makes-a-great-work-culture
- July 5, 2022
- 120
- 0
- Lifestyle