อย่างที่ทราบ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มิได้มีชีวิตอยู่คนเดียวตามลำพัง มีการทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอดเวลา มีการสื่อสารและพบปะกันอยู่เสมอ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความสุข ความปลอดภัย และความอบอุ่นให้กับตัวเอง
เราเคยชินกับการแสดงความรักผ่านการกอด การทักทายด้วยการจับมือ หรือการแสดงความเป็นมิตรผ่านการสัมผัสอีกฝ่าย แต่แล้วโควิด-19 ก็ทำให้มนุษย์ต้องห่างกันสักพัก ไม่ใกล้ชิดอย่างที่เคยด้วยมาตรการ Social Distancing พฤติกรรมที่เคยเป็นมาจึงถูกกดทับเอาไว้
นำไปสู่ความปกติใหม่ หรือ New Normal ที่สังคมมนุษย์ทุกวันนี้ต้องใส่หน้ากากในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงไปในที่คนเยอะๆ หรือแออัด การหยิบจับอะไรก็ไม่สะดวกใจอย่างที่เคย และการคุยกับคนแปลกหน้า อาจทำให้เรารู้สึกหวาดระแวง
ยิ่งถ้าโควิด-19 ระบาดหนัก ก็อาจเจอมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เราต้องอยู่แต่กับบ้าน นานวันเข้าก็ทำให้เราเกิดอาหารโหยหาการสัมผัส (Skin Hunger) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เกิดความเครียด ความหดหู่ หรือรู้สึกเดียวดาย จนต้องหาหนทางในการเยียวยา หรือประคับประคองจิตใจไม่ให้แย่ลงกว่าที่เคย
มนุษย์ต้องการสัมผัส
การสัมผัสถือเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดที่ได้รับความรักและความอบอุ่นจากอ้อมกอดของพ่อและแม่ เมื่อเติบโตขึ้นเรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในมิติต่างๆ ผ่านการพูดคุย การทักทาย การกอดคอ โอบไหล่ และจับมือ ซึ่งเชื่อมโยงกับทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ในขั้นสอง ได้แก่ ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง และขั้นสามคือความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ
ยิ่งไปกว่านั้นการสัมผัสยังทำให้เกิดการหลั่งสารออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือสารแห่งความเชื่อใจและความไว้ใจ ช่วยให้เราอารมณ์ดี หัวเราะได้ง่าย เข้ากับคนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น และสนุกกับการเข้าสังคม
‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว ผู้เชี่ยวชาญด้าน Empathic Communication ให้ความเห็นว่า การสัมผัสกันทางร่างกาย (Physical Touch) เปรียบเสมือนภาษาแรกของมนุษย์ในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา
“การสัมผัสมันมีพลัง ถ้าเราอยากมอบความรู้สึกบางอย่าง เราสามารถทำผ่านการสัมผัสกันทางร่างกายที่ทำให้อีกฝั่งรู้สึกได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งคนมีความทรงจำเกี่ยวกับการสัมผัสกันทางร่างกายเยอะ เราจะจำได้ว่าชีวิตเราเคยถูกสัมผัสมาแบบไหนบ้าง ทุกอย่างถูกฝังอยู่ในร่างกาย แม้บางครั้งจะตีความเป็นตัวหนังสือไม่ได้ แต่บ่อยครั้งที่การสัมผัสจะกระตุ้นความรู้สึกหรือความทรงจำบางอย่างของเรา
“การสัมผัสทางร่างกายในแบบที่เหมาะสม ซึ่งฟังก์ชั่นของมันส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจของเรามากเหมือนกัน เป็นสิ่งที่ช่วยโปรโมตความรัก ความเอาใจใส่ ความรู้สึกปลอดภัยตั้งแต่เด็กๆ ที่เรายังพูดไม่ได้ การถูกแม่อุ้ม ประคับประคอง ส่งผลต่อการเกิดภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด ทำให้เกิดการหลั่งสารแห่งความสุข
“เวลาเรากอดใครสักคน คนที่มาจับมือเราในยามเศร้า เหงา หรือท้อแท้ จะมีการสื่อสารบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างผิวหนังมนุษย์ด้วยกัน”
สัมผัสที่หายไป
ไม่มีกี่ปีมานี้ การสัมผัสกันของมนุษย์ลดลงไปอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน แล้วเมื่อเกิดโรคระบาดจากโควิด-19 เราถูกร้องขอให้เว้นระยะห่างทางสังคม ถูกจำกัดพื้นที่และการเดินทาง นานวันเข้าเราจึงเกิดการโหยหาการสัมผัส หรือที่เรียกว่า ‘Skin Hunger’
เมอร์เล แฟร์เฮิร์สต์ (Merle Fairhurst ) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชีวภาพ มหาวิทยาลัย Bundeswehr University ประเทศเยอรมนี ทำการสำรวจคนใน 5 ประเทศ ช่วงเดือนเมษายน 2020 ระบุว่า 61 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่ได้สัมผัสคนแปลกหน้าเลย และอีก 35 เปอร์เซ็นต์ ขาดการสัมผัสกับสมาชิกในครอบครัว
“ก่อนมีโควิด-19 มนุษย์เราก็มีการสัมผัสกันน้อยลงอยู่แล้ว ด้วยเทคโนโลยี สังเกตง่ายๆ ดูโต๊ะกินข้าวของที่บ้าน เขาไม่คุยกันแล้ว แต่ก้มหน้าดูมือถือที่วางอยู่ข้างจานแทน หรือบางบ้านทุกคนกินข้าว แต่ตามองทีวี ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเลย” ดุจดาวให้ความเห็น
“เราเป็นคนที่ชอบคอนเน็กต์กับคนนะ เราทักทาย รปภ. รีเซฟชั่น โดยที่เราไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำ และอยากรู้ว่าเขาจะมีปฏิริยาตอบกลับมาอย่างไร บางคนไม่มีปฏิกิริยากลับมาเลย เมินเฉย คิดว่าคนนี้ใคร มาทัก ซึ่งเรากำลังเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘Human Connection’ แต่บางคนก็ไม่อยากคอนเน็กต์กับเรา ถ้าไม่รู้จักก็ไม่ต้องคอนเน็กต์กัน เหมือนเรากำลังโยนทิ้งสิ่งนี้ไปเลย”
ดร.แอนโธนี เฟาซี (Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NIAID) และที่ปรึกษาด้านโรคระบาดของรัฐบาลโจ ไบเดน เคยพูดไว้ในพอดแคสต์ของ Wall Street Journal ว่า ชาวอเมริกันไม่ควรทักทายด้วยการจับมืออีกต่อไป
“ไม่เพียงแต่เป็นการดีที่จะป้องกันโรคไวรัสโคโรนาเท่านั้น แต่มันอาจจะลดจำนวนของไข้หวัดใหญ่ในประเทศนี้ลงอีกด้วย”
ดุจดาวบอกว่า “ด้วยโควิด-19 และเทคโนโลยี ทำให้การเจอกัน หรือการสัมผัสกันระหว่างมนุษย์เกิดกฎกติกาบางอย่างขึ้นมา ด้วยสังคมและเทรนด์โลกจะทำให้มนุษย์แยกห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีบางอย่างมาแทรกตรงกลาง ทำให้เราแบ่งแยกออกจากกัน
“แต่บางคนชอบนะ การไม่ได้เจอกัน ชอบทำทุกอย่างผ่านจอ ซึ่งเท่ากับความสะดวก โดยเฉพาะคนยุคใหม่ตั้งแต่เจนวายลงไปที่โตมากับเด็กเทคโนโลยี เขารู้สึกว่านี่คือวิถีชีวิตแบบนี้ อาจไม่ได้รู้สึกกระทบเท่าไร ไม่ได้พึ่งพา Human Connection ขนาดนั้น”
หดหู่ เศร้า และความเครียด
ดาเชอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) อาจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) บอกว่า “การขาดการสัมผัส” สามารถส่งผลกระทบต่อผู้คนในระดับจิตใจและแม้กระทั่งร่างกาย
“สมองส่วนใหญ่ของเราทุ่มเทให้กับการสัมผัส และผิวของเรามีเซลล์หลายพันล้านเซลล์ที่ประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับมัน” เขากล่าว “การสัมผัสที่เหมาะสม เช่น การกอดคู่ของคุณ หรือคล้องแขนกับเพื่อนสนิท จะช่วยบรรเทาความเครียด และการสัมผัสในเชิงบวกจะกระตุ้นเส้นประสาทจำนวนมากในร่างกาย ซึ่งช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ควบคุมการย่อยอาหาร และช่วยให้นอนหลับสบาย”
ในฐานะนักจิตบำบัด ดุจดาวบอกว่าเมื่อมนุษย์ไม่ได้สัมผัสกันนานๆ จะส่งผลต่อสภาพจิตใจในแบบที่ไม่รู้ตัว เพราะความเครียดมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง การสัมผัสอาจถูกมองข้ามไป แต่มีผลในแง่ทำให้คนรู้สึกว้าเหว่ เดียวดาย รู้สึกไม่เชื่อมโยงกับใคร
“คนที่เคยมีพฤติกรรมแบบสกินชิป (Skinship) จะรู้สึกโหวงๆ ต่อให้อยู่บ้าน มีข้าวกิน เงินก็พอมีใช้ แต่ยังต้องการให้เพื่อนมาอยู่ใกล้ๆ กับอีกส่วนคือคนทำงานที่บ้าน หรือเรียนออนไลน์ มีแต่เนื้อหาและงานที่ต้องรับผิดชอบ แต่ไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นเลย แม้เราจะไม่ปฏิเสธว่าเป็นพนักงานก็ต้องทำงาน แต่ก็ต้องใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปในนั้นด้วย ถ้ามันไม่มี ก็กลายเป็นความเครียด ท้อแท้ และโดดเดี่ยว”
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เรื่องของความไว้วางใจและความปลอดภัย เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ในเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะคนแปลกหน้า
“เราอนุญาตให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของเราก็เพราะความไว้วางใจและความปลอดภัย แต่พอมีโควิด-19 ก็ต้องกลับมานั่งคิดตรงนี้ว่าแบบไหนที่พอดี เช่น คนส่งของ เราจะคิดเลยว่าคนนี้ก่อนมาเจอเรา เขาไปจับอะไรมาก่อนหรือเปล่า ซึ่งมันก็จะมีความหวาดระแวงในใจ
“เด็กกับวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ต้องฝึกทักษะการเข้าสังคม แต่การไม่ได้ไปโรงเรียน เจอแต่คนที่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย พอวันหนึ่งต้องกลับไปโรงรียน อาจเรียกร้องเวลาในการปรับตัวและสร้างความสัมพันธ์กับคนมากขึ้น ซึ่งทักษะแบบนี้เมื่อถูกแช่ไว้นานๆ ไม่ได้ใช้มัน การจะกลับมาใช้ ก็ต้องแบบทำตัวอย่างไร การใช้พื้นที่ร่วมกับคนอื่น มีความไม่คล่องตัวอยู่” ดุจดาวกล่าวทิ้งท้าย
แหล่งที่มา https://www.gqthailand.com/views/article/what-makes-a-great-work-culture
- July 5, 2022
- 57
- 0
- Lifestyle